top of page

ใจเธอ ใจฉัน เต้นแบบเดียวกันไหม?


วิทยากร: นายแพทย์วิรุฬห์ ลิขิตเลิศล้ำ นายแพทย์ชำนาญการด้านโรคหัวใจ โรงพยาบาลราชวิถี


เคยไหม จู่ ๆ ก็เจ็บหัวใจจี๊ด ๆ ขึ้นมา ใจสั่นเหมือนยกทั้งคอนเสิร์ตขาร็อคมาไว้ในอก เหงื่อเต็มตัวไปหมด นี่ฉันเป็นอะไร ?? คงตกใจน่าดู ถ้าอาการเหล่านี้มาเยือนตนเองหรือคนในครอบครัว น่าจะเป็นสัญญาณอันตรายที่บ่งบอกถึงลักษณะของโรคที่อาจเกี่ยวข้องกับหัวใจเป็นแน่

หัวใจ เป็นอวัยวะสำคัญที่ทำหน้าที่สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะส่วนต่างๆ ภายในร่างกาย โดยหัวใจของคนเรานั้น เป็นระบบประสาทอัตโนมัติ จะเต้นช้าหรือเต้นเร็ว ขึ้นอยู่กับกิจวัตรประจำวัน และอารมณ์ ณ ขณะนั้น โดย นายแพทย์วิรุฬห์ ลิขิตเลิศล้ำ นายแพทย์ชำนาญการด้านโรคหัวใจ โรงพยาบาลราชวิถี อธิบายว่า อาการทั่วไปของโรคหัวใจนั้น สามารถสังเกตได้ เช่น รู้สึกปวดร้าวเหมือนมีใครเอาเข็มขัดมารัดที่หน้าอก รู้สึกแน่นหน้าอก เหมือนมีใครมานอนทับ หรือ แน่นหน้าอก เมื่อออกกำลังกายเยอะๆ อาการเหล่านี้ล้วนเป็นสัญญาณบอกเหตุว่า อันตรายอาจเริ่มมาเยือนสู่หัวใจคุณ เข้าแล้วแหละ เพราะ “โรคหัวใจขาดเลือด” เป็นโรคยอดฮิตเมื่อย่างเข้าสู่วัยชรา ลองมาพิจารณาดูกันว่า คนในครอบครัวอย่าง คุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย คุณพ่อ คุณแม่ หรือแม้กระทั่งตัวเราเอง มีอาการของโรคหัวใจขาดเลือด เหล่านี้หรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นอาการ เจ็บหน้าอกเหมือนถูกบีบรัด จุกเสียดแน่นบริเวณลิ้นปี่ เป็นลมหน้ามืด เหงื่อออกตัวเย็น ใจสั่น เหนื่อยหอบ ปวดร้าวบริเวณแขน กราม ต้นคอ ไหล่ และอ่อนเพลีย โดยลักษณะการแสดงออกของอาการหัวใจขาดเลือดแบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ เรื้อรังและเฉียบพลัน

  1. ชนิดเรื้อรัง ผู้ป่วยจะรู้ขีดจำกัดความสามารถของตนเองในการออกแรงหรือทำกิจกรรม หากมากกว่านั้น จะทำให้แน่นหน้าอก ควรกินยาตามแพทย์สั่งรวมถึงพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ

  2. ชนิดเฉียบพลัน ถือได้ว่าอันตราย เพราะ อยู่ดีๆ อาการก็กำเริบ เนื่องจากหัวใจไม่ทันได้ปรับตัว ทำให้เกิดภาวะรุนแรง ถ้านึกภาพไม่ออก ให้นึกถึงละครหลังข่าวที่ลูกชายขัดใจพ่อบังเกิดเกล้าแล้วหนีออกจากบ้าน พ่อทรุดลงกับพื้น แล้วจับหน้าอก หน้าตาเหยเก สักพักก็เป็นลมหมดสติไป นี่แหละคืออาการระยะเฉียบพลัน ควรรีบไปพบแพทย์ แต่ห้ามขับรถเองเด็ดขาด ควรโทร.เรียก 1669 หรือให้คนอื่นรีบขับรถไปส่งโรงพยาบาล เนื่องจาก หากผู้ป่วยขับเองนั้น อาจเป็นลม หมดสติโดยไม่รู้ตัว นำมาซึ่งอุบัติเหตุได้


สาเหตุของการเกิดโรคนั้น มีหลายสาเหตุ ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง สูบบุหรี่ อายุ และกรรมพันธุ์ สาเหตุเหล่านี้ล้วนเกี่ยวพันและเชื่อมโยงมาสู่โรคหัวใจแทบทั้งสิ้น ส่วนการดูแลรักษาและป้องกันนั้น ต้องดูแลจากสาเหตุของโรค เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ต้องออกกำลังกาย และควบคุมอาหาร รวมถึงกินยาตามแพทย์สั่ง ส่วนการป้องกันการเกิดโรคที่ดีที่สุดนั้น คือการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ตามความเหมาะสมตามวัย และไม่สูบบุหรี่

หากเรากำลังเดินเล่นอยู่ในสวนสาธารณะ แล้วพบว่ามีคนล้มพับอยู่ใต้ต้นไม้ ลองเช็คการเต้นของจังหวะหัวใจดู ถ้าหัวใจยังคงเต้นพลิ้วไหว ต้องใช้เครื่องช็อตไฟฟ้า ถ้าหัวใจเต้นช้าหรือหยุดเต้น ต้องรีบปั๊มหัวใจ และรีบมองหา เครื่อง AED หรือ เครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจ เพื่อช่วยปฐมพยาบาลเบื้องต้น แล้วรีบพาไปพบแพทย์


รู้อย่างนี้แล้ว อย่าเพิ่งตกใจไป หากพบว่า อยู่ดี ๆ ก็เจ็บแปล๊บ ๆ ที่หน้าอก คุณหมอยังบอกอีกว่า อาการเจ็บแปล๊บ ๆ ประมาณ 3 วินาทีแล้วหาย ที่คนส่วนใหญ่มักพบเจอนั้น ไม่ได้บ่งบอกถึงอาการของโรคหัวใจ แต่นั่นหมายถึงอวัยวะภายในมีการเสียดสีกันเป็นครั้งคราว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ถ้ามีอาการใด ๆ เกิดขึ้น อย่าเพิ่งไปเชื่อข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต ให้รีบพบแพทย์จะดีที่สุด เพราะแท้จริงแล้ว หัวใจ ก็มักจะเสื่อมไปตามวัย แค่เรียนรู้ที่จะอยู่กับโรคและอาการที่เป็นอย่างไม่ประมาท และที่สำคัญ คือ ต้องไม่เครียด เพราะความเครียด ก่อให้เกิดโรคต่าง ๆ ที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคหัวใจนั่นเอง


////////////////////////////////////////////////////

บทความ: โดย บริษัท ออลไรท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด

ดู 173 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page