top of page

รู้จักและปรับตัว กับซึมเศร้าในผู้สูงวัย


วิทยากร: ผศ.นพ. พันธ์ศักดิ์ ศุกระฤกษ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์


เมื่ออายุมากขึ้น ฮอร์โมนในร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งนอกจากจะกระทบต่อระบบต่าง ๆ ของร่างกายแล้ว ยังสามารถส่งผลต่อจิตใจและอารมณ์ให้แปรปรวนจนอาจลุกลามกลายเป็นโรคซึมเศร้าไปด้วย วันนี้กิจกรรมของ ห้องเรียนสูงวัย กายใจ YOUNG SOOK จึงจะพามารู้จักโรคซึมเศร้าใน ผู้สูงอายุกันให้มากขึ้น ตั้งแต่แนวคิดที่มีต่อโรคซึมเศร้า วิธีสังเกตการณ์ ไปจนถึงแนวทางป้องกันตัวเองและคนในครอบครัว

ผศ.นพ. พันธ์ศักดิ์ ศุกระฤกษ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ แนะนำให้มองมุมใหม่เกี่ยวกับโรคซึมเศร้า โดยแทนที่จะพุ่งเป้าไปที่ความเครียด หรือคิดถึงสิ่งที่เป็นด้านลบ ก็ให้เปลี่ยนเป็นทำอย่างไรให้ไม่เกิดความเครียด และคิดถึงเรื่องที่เป็นด้านบวกแทน แนวคิดนี้จะช่วยป้องกันภาวะซึมเศร้าไม่ให้เกิดขึ้นได้ เรียกได้ว่า แค่เปลี่ยนความคิด ชีวิตก็เปลี่ยน ...

คุณหมอขยายแนวคิดข้างต้น ผ่านเรื่องเล่าที่ว่า สามีภรรยาคู่หนึ่งมาปรึกษาปัญหาชีวิตคู่ ทั้ง 2 ฝ่ายต่างมองเห็นแต่ข้อเสียของกันและกัน แต่เมื่อฉุกคิดได้ว่าแต่ละคนนั้นต่างมีข้อดีมากมาย ที่ต่างฝ่ายต่างมองข้ามไป นั่นก็ทำให้รู้สึกดีและสบายใจมากขึ้น กล่าวโดยสรุปก็คือ “ถ้าไม่อยากซึมเศร้า ให้นึกถึงแต่ความดีของคนรอบข้าง และลืมข้อเสียไปบ้าง”


คุณหมอยังเสริมว่า เพราะเราอาจซึมเศร้าได้โดยไม่รู้ตัว จากสิ่งแวดล้อม คนรอบข้าง รวมถึงโซเชียลเน็ตเวิร์ก ที่ส่งข้อมูลด้านลบมาเป็นจำนวนมาก รวมไปถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตกว่า 90% เป็นเรื่องที่เราไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งหากเรารับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไม่มีสติ สื่อสารกันในทางลบ และคอยคิดต่อกันแต่ข้อเสีย มันก็จะนำไปสู่สภาวะ ซึมเศร้าได้เช่นกัน


วิธีการหนึ่งที่คุณหมอแนะนำ คือ การเลือกที่จะจดจำเรื่องราวดี ๆ ผ่านการจดบันทึก โดยในทุกวันที่กลับบ้าน ให้เขียนเรื่องราวที่เกิดขึ้นในชีวิตลงในสมุดสักเล่ม ฝั่งซ้ายให้เขียนเรื่องราวดี ๆ ส่วนสิ่งที่ไม่ดีให้เขียนลงที่ฝั่งขวา นั่นเพราะผู้สูงวัยมีแนวโน้มที่จะลืมสิ่งต่าง ๆ ได้ง่าย ดังนั้น การเขียนเรื่องราวที่ดีลงในสมุด ถือเป็นการย้ำเตือนให้รู้ว่าในชีวิตก็ยังมี เรื่องราวดี ๆ อยู่อีกมากมาย


เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น คุณหมอจึงเปรียบเปรยกับ “น้ำขุ่นในแก้ว” ว่าการจะทำให้น้ำขุ่นในแก้วใสขึ้นได้ ก็จะต้องคอยเติมน้ำใส ๆ ลงไปเรื่อย ๆ เสมือนกับการเติมของดีเข้าสมองทุกวัน โดยใช้วิธีเขียนออกมา เมื่อเขียนไปเรื่อย ๆ เราก็จะพบว่าในชีวิตต่างมีทั้งดีและร้าย แต่ถ้าเรารู้จักปฏิเสธเรื่องที่ไม่ดีออกจากชีวิตบ้าง และคิดถึงแต่เรื่องดี ๆ เข้าไว้ ชีวิตก็จะมีความสุข ปราศจากโรคซึมเศร้าอย่างแน่นอน


สาเหตุที่พบได้บ่อยของโรคซึมเศร้า ได้แก่ กรรมพันธุ์, ภาวะพร่องฮอร์โมน, ความเครียดเรื้อรัง, เคมีในสมองไม่สมดุล, ปัญหาทางจิตใจ การเลี้ยงดูและพัฒนาการในวัยเด็ก ส่วนสัญญาณที่บ่งบอกถึงโรคนี้มีหลายอาการ เช่น อยากอยู่คนเดียว, นอนไม่หลับ, เบื่ออาหาร, รู้สึกตนเองไร้คุณค่า ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจเป็นเพียงอาการนำเท่านั้น แต่จะเป็นจริงหรือไม่นั้น ควรจะต้องได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ ส่วนผลกระทบที่ตามมาของโรคซึมเศร้ามีด้วยกันหลายอย่าง เช่น โรคเรื้อรังต่างๆ, โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง, ความจำเสื่อม, ติดแอลกอฮอล์ และคิดฆ่าตัวตาย


คุณหมอแนะแนวทางการรักษาว่า ควรเริ่มต้นจากการได้รับคำปรึกษาอย่างมีเมตตาและเอื้ออาทร จากพระก็ดี หรือนักจิตวิทยาก็ดี รวมถึงต้องให้คนใกล้ชิดมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าอย่างถูกต้อง จากนั้นค่อยรับการรักษาทางการตรวจพบ ทั้งปรับสมดุลของฮอร์โมน, ปรับสมดุลสารอาหาร, ปรับสมดุลพลังงาน จากการรับประทานอาหารจำพวกไขมันดีและทานผักผลไม้สดที่มีสารอนุมูลอิสระ เพราะสารอาหารเหล่านี้จะทำการสร้างฮอร์โมนที่ทำให้มีความสุข ไม่เครียด ให้ความรู้สึกกระฉับกระเฉง ไปจนถึงวิธีบำบัดธรรมชาติอย่างการนวดน้ำมันที่จะช่วยให้ผ่อนคลายและช่วยให้อารมณ์ดีขึ้นด้วย


สำหรับการทานยาต้านอาการซึมเศร้านั้น ควรเป็นทางเลือกการรักษาอันดับสุดท้าย เพราะยาต้านมีฤทธิ์ในการกดประสาทสมองและกดระบบฮอร์โมนในต่ำลงด้วย แต่ถ้ามีความจำเป็น ก็ควรทานภายใต้คำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ส่วนในกรณีที่เราพบเห็นว่าใครมีอาการซึมเศร้า เราควรเข้าช่วยเหลือได้โดยการให้คำปรึกษา หรือชวนคน ๆ นั้นไปทำกิจกรรมต่าง ๆ รวมถึงทำตัวให้เป็นแบบอย่างที่ดี เพื่อผู้ป่วยจะได้ซึมซับ และมีกายใจที่สดชื่นแจ่มใสตามไปด้วย


คุณหมอฝากทิ้งท้ายไว้ว่า โรคซึมเศร้าส่วนใหญ่มาจากความเครียด 3 อย่าง คือ คนรักจากไปอย่างไม่มีวันกลับ ถัดมาคือคนรักเลิกรา และสุดท้ายคือการถูกเชิญออกจากงาน แต่ไม่ว่าจะเป็นความเครียดที่หนักแค่ไหน ก็ล้วนมีทางออกให้เสมอ เพราะฉะนั้นขอแค่เพียงเรารู้จักจัดการกับความเครียด และรู้จักที่จะมีความรักในสิ่งที่ทำ รู้จักตั้งความหวังถึงสิ่งที่ดีกว่าเดิม รู้จักที่จะมอบความสุขให้ผู้อื่น เพียงเท่านี้โรคซึมเศร้าก็จะไม่มาเยือนอย่างแน่นอน


////////////////////////////////////////////////////

บทความ: โดย บริษัท ออลไรท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด

ดู 66 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page