top of page

โซเชียล แค่ใช้เป็นยังไม่พอ แต่ต้องใช้อย่างรู้เท่าทัน


วิทยากร: คุณสิรินาท ต่อวิริยะเลิศชัย จากโครงการปลุกพลังเปลี่ยนไทย


ในยุคที่สื่อออนไลน์มีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และเข้าถึงคนได้ทุกเพศทุกวัย ด้านของผู้สูงอายุเองก็มีการใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งจากข้อมูลปี 2020 ของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) พบว่า ผู้สูงวัย อายุ 55-73 ปี ใช้อินเทอร์เน็ตมากถึง 10 ชั่วโมงต่อวันเลย ทีเดียว โดยส่วนใหญ่ใช้เล่นโซเชียลมีเดีย, สืบค้นข้อมูล, ดูหนังฟังเพลง และรับส่งอีเมล์ เป็นต้น ส่วนแอปพลิเคชันที่ผู้สูงอายุนิยมใช้ ได้แก่ Line, Facebook, Facetime และ What App

ถึงแม้การรู้จักใช้โซเชียลมีเดียให้เป็น จะช่วยอำนวยความสะดวกในชีวิตได้มากขึ้นก็จริง แต่ในขณะเดียวกันก็ควรใช้อย่างรู้เท่าทันและเหมาะสมด้วย เพื่อความปลอดภัยและไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ วันนี้ คุณสิรินาท ต่อวิริยะเลิศชัย วิทยากรจากโครงการปลุกพลังเปลี่ยนไทย จึงจะมาสอนการใช้ Social Media ผ่าน Facebook, Line ทั้งการใช้งานเบื้องต้น การรักษาข้อมูลส่วนตัว และข้อควรระวังต่าง ๆ ที่ต้องรู้ ดังนี้


แนวทางการตั้งค่าบัญชี Facebook เพื่อความปลอดภัย 10 ข้อหลัก

1. เช็คภาพรวมการตั้งค่าความเป็นส่วนตัวของบัญชี เพื่อรักษาความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยใน 3 ส่วนสำคัญของบัญชี Facebook ได้แก่ โพสต์, โปรไฟล์, แอปฯ และเว็บไซต์

2. การกำหนดผู้ที่สามารถเห็นโพส เพื่อป้องกันการสอดแนมชีวิตส่วนตัว หรือ ไม่ให้บุคคลอื่นรับรู้ความเคลื่อนไหวของเรามากเกินไป

3. การปกปิดข้อมูลส่วนตัว เช่น อีเมล์, หมายเลขโทรศัพท์, ที่พักอาศัย และสถานที่ทำงาน เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ควรพิจารณาปกปิด เพื่อป้องกันไม่ให้มิจฉาชีพนำข้อมูลของเราไปใช้ได้

4. ไม่ควรรับคำขอเป็นเพื่อนจากบุคคลที่ไม่รู้จัก เนื่องจากมิจฉาชีพอาจสร้างบัญชีผู้ใช้ปลอมขึ้นมา ดังนั้นการรับคำขอเป็นเพื่อนจากบุคคลที่ไม่รู้จัก อาจเป็นการเปิดโอกาสให้มิจฉาชีพเข้ามาใกล้ตัว สุ่มเสี่ยงที่จะถูกหลอกลวงได้

5. การลบเพื่อน หรือ บล็อกผู้อื่น เราสามารถกดเลิกเป็นเพื่อนกับบุคคลที่ไม่น่าไว้ใจ หรือ การบล็อกจะช่วยป้องกันไม่ให้คนอื่นสามารถคุยโต้ตอบกับเรา รวมถึงไม่สามารถมองเห็นบัญชีของเราด้วยเช่นกัน

6. จำกัดการค้นหาผ่านข้อมูลติดต่อ เราสามารถตั้งค่าเพื่อป้องกันไม่ให้คนอื่นนำข้อมูลติดต่อของเรา เช่น เบอร์โทรศัพท์ หรือ อีเมล์ ไปสืบค้นเจอบัญชีผู้ใช้ของเราบน Facebook ได้

7. การปกปิดชื่อจริง เนื่องจาก Facebook แสดงโปรไฟล์ทั้งหมดในผลการค้นหา การเปลี่ยนเป็นชื่ออื่นอาจเป็นทางเลือกที่จำเป็นสำหรับผู้ที่ต้องการความเป็นส่วนตัวสูง หรือหลีกเลี่ยงจากการถูกติดตาม

8. การปกปิดตำแหน่งที่ตั้งที่แท้จริง เวลาโพสต์ หรือเช็คอินสถานที่ต่าง ๆ ไม่ควรคลิกหมุดระบุตำแหน่งที่แท้จริง เพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลอื่นรู้ตำแหน่งของเรา และสามารถติดตามเราได้

9. การลบแท็ก หรือ ป้องกันการถูกแท็ก เราสามารถเลือกขอตรวจทานทุกแท็กก่อนที่จะปรากฏบนไทม์ไลน์ของเรา หรือ หากพบว่าโพสต์ใดไม่เหมาะสม เราสามารถเลือกลบแท็กภายในการตั้งค่าโพสต์แต่ละรายการได้

10. การแท็กเพื่อนแบบจำกัดผู้ที่เห็นโพสต์ การแท็กผู้อื่นในโพสต์และรูปถ่าย หมายถึงเพื่อนของพวกเขาทั้งหมดสามารถเห็นโพสต์นั้นได้เช่นกัน ดังนั้นหากไม่ต้องการให้คนแปลกหน้าเห็นรูปภาพส่วนตัวของเรา ให้หลีกเลี่ยงการติดแท็กเพื่อนจะดีที่สุด


แนวทางการตั้งค่า Line เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการใช้งาน

1. เปิดใช้งาน Letter Sealing เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้อื่นนอกจากผู้ส่งและผู้รับสามารถอ่านเนื้อหาของข้อความได้ หากผู้ส่งและผู้รับข้อความเปิดการใช้งาน Letter Sealing เอาไว้ทั้งสองฝ่าย ข้อความที่รับส่งหากันจะมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

2. ปิดการตั้งค่าเพิ่มเพื่อนจากเบอร์โทรศัพท์อัตโนมัติ การตั้งค่าโดยเลือกปิด Auto-add friends (เพิ่มเพื่อนอัตโนมัติ) และเลือกปิด Allow others to add me (อนุญาตให้เพิ่มเป็นเพื่อน) เมื่อปิดทั้ง 2 ส่วนนี้ จะช่วยป้องกันไม่ให้คนที่เราไม่รู้จักเพิ่มเพื่อนเราจากเบอร์โทรศัพท์ได้อีกต่อไป

3. วิธีป้องกันแชทจากบุคคลที่สาม การตั้งค่าเปิด Filter messages (ปฏิเสธการรับข้อความ) จะสามารถป้องกันข้อความแชทจากคนที่ไม่รู้จักได้



แนะนำวิธีใช้งาน Cofact ตรวจสอบข่าวลวง ข่าวลือ หรือ ข้อความหลอกลวง

Cofactคือ พื้นที่เปิดให้ทุกคนมาช่วยกันตรวจสอบข่าวลวง ซึ่งหากสงสัยว่าข้อความที่พบเป็นข่าวลวง ข่าวลือ หรือ ข้อความหลอกลวง ให้ส่งข้อความนั้นมายังแชทบอทของ Cofact เพื่อทำการตรวจสอบได้ ซึ่งการใช้งานบน Line มีขั้นตอน ดังนี้

1. เปิดเเอปพลิเคชันไลน์ จากนั้นทำการค้นหาเพื่อน พิมพ์ช่อง LINE ID ว่า @cofactจะปรากฎ "Cofact" ให้เพิ่มเพื่อน

2. ในช่องเเชทจะปรากฎข้อความเเสดงการทักทาย เราสามารถส่งข้อความที่สงสัยลงในระบบได้เลย Cofact จะทำการดึงข้อมูลที่เคยมีคนกล่าวถึงไว้ในระบบออกมาให้ตรวจสอบ

3. ถ้าใน Cofact มีข้อความคล้ายกับที่สงสัย จะปรากฏตัวอย่างข้อความให้เลือก เลื่อนไปดูข้อความที่สนใจ ถ้าต้องการดูรายละเอียด

4. แชทบอทจะสรุปให้ดูว่าข้อความที่เลือกนี้ มีคนให้ความเห็นว่าจริงหรือหลอกลวงกี่ความเห็น และมีตัวอย่างแต่ละความเห็นให้ดู

5. หากค้นหาข่าวลวงในระบบแล้วไม่พบ แสดงว่ายังไม่มีใครพูดถึงในประเด็นนี้ แนะนำให้เข้าไป Post ตั้งหัวข้อใหม่ที่ https://cofact.org


หลังจากที่ผู้ร่วมกิจกรรมได้ทดลองใช้โซเชียลมีเดีย ทั้ง Facebook และ Line กันบ้างแล้ว รวมถึงขั้นตอนการตรวจสอบข่าวลวงบนอินเทอร์เน็ตด้วย Cofact ทำให้ผู้ร่วมกิจกรรมทุกท่านได้รู้จักการใช้งานเบื้องต้น ไปจนถึงขั้นตอนการตั้งค่าความเป็นส่วนตัว และสามารถกลับไปใช้งานโซเชียลด้วยตนเองที่บ้านได้อย่างเหมาะสม รวมถึงรู้จักตรวจสอบข่าวให้ดีก่อนที่เชื่อ หรือแชร์ไปยังผู้อื่นด้วย


////////////////////////////////////////////////////

บทความ: โดย บริษัท ออลไรท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด

ดู 3 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page