top of page

บริหารสมองด้วย 2 มือ


วิทยากร: ดร.สุขพัชรา ซิ้มเจริญ ผู้เชี่ยวชาญการบริหารสมอง


มีคนบอกไว้ว่า อยากฉลาด ต้องฝึกบริหารสมอง ขึ้นชื่อว่าท่าบริหาร หลายคนคงจินตนาการไปถึงการเข้าฟิตเนสแอร์เย็นฉ่ำ ไม่ก็สนามหรือสวนสาธารณะที่ไหนสักแห่งกว้าง ๆ ตอนเย็น ๆ ที่มีคนขวักไขว่ เดิน สลับ วิ่งกันไป-มา แต่ใครจะรู้ล่ะว่า การบริหารสมอง ไม่จำเป็นต้องไปสถานที่แบบนั้น คุณก็สามารถทำได้ ทุกที่ทุกเวลาด้วยสองมือของคุณเอง

ทำไมต้องบริหารสมอง เชื่อว่าหลายคนสงสัย เพราะการบริหารสมองเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสมองโดยเฉพาะของผู้ที่ยังไม่เป็นโรคสมองเสื่อม ถือเป็นการป้องกันอย่างหนึ่ง เพราะโรค สมองเสื่อม เป็นแล้วไม่หาย เพียงแค่ฟื้นฟูให้ดีขึ้นเท่านั้นเอง ซึ่งสมองเสื่อมเป็นโรคที่น่ากลัวมาก เพราะโรคนี้สร้างผลกระทบให้แก่คนรอบข้างที่ดูแลไม่เว้นแต่ละวัน


การบริหารสมอง คือ การบริหารร่างกายในส่วนที่สมองควบคุม โดยเฉพาะกล้ามเนื้อ Corpus Callosum ที่เชื่อมสมองทั้งสองซีกเข้าด้วยกัน ทำให้การเรียนรู้ของสมอง 2 ซีกเป็นไปอย่างสมดุล เกิดประสิทธิภาพ ผ่อนคลาย และลดความตึงเครียด


ดร.สุขพัชรา ซิ้มเจริญ ผู้เชี่ยวชาญการบริหารสมอง บอกว่าเราทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเป็นโรคสมองเสื่อมได้ ดังนั้น ต้องหมั่นฝึกแยกสมอง เพราะสมองของเราสามารถเสื่อมลงได้เนื่องจากเซลล์ในสมองตาย ดังนั้น มาลองเช็กกันดูสิ ว่าเรากำลังมีพฤติกรรมเข้าข่ายหรือเปล่า เช่น มีปัญหาในเรื่องการใช้ภาษาสื่อสาร ลืมวันเวลาสถานที่ การตัดสินใจแย่ลง มีปัญหาในการแยกแยะ อารมณ์เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา บุคลิกภาพเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และมีความบกพร่องทางความคิดสร้างสรรค์


ท่าบริหารสมองที่ผู้เชี่ยวชาญการบริหารสมองแนะนำมี 3 หมวด คือ การบริหารปุ่มสมอง การเคลื่อนไหวสลับข้าง และการผ่อนคลาย ถ้าพร้อมแล้ว มาฝึกบริหารสมองไปพร้อม ๆ กันเลย

  • การบริหารปุ่มสมอง ท่าที่ 1 ใช้มือข้างใดข้างหนึ่งวางบริเวณใต้กระดูกคอและซี่โครงของกระดูกอก จะมีหลุมตื้น ๆ บนผิวหนัง ใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ คลำหาร่องหลุมตื้น ๆ 2 ช่องนี้ นวดบริเวณนี้ประมาณ 30 วินาที และเอามืออีกข้างวางไว้ที่ตำแหน่งสะดือ ขณะที่นวดปุ่มสมองให้กวาดสายตาซ้ายไปขวา ขวาไปซ้าย จากพื้นขึ้นเพดาน และเปลี่ยนทำซ้ำกับมืออีกข้างหนึ่ง ท่าที่ 2 คือ ปุ่มขมับ ใช้นิ้วทั้งสองข้างนวดขมับเบา ๆ วนเป็นวงกลม ประมาณ 0.30-1.00 นาที และท่าที่ 3 ปุ่มใบหู ใช้นิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้จับที่ส่วนบนสุดด้านนอกของใบหูทั้ง 2 ข้าง นวดตามขอบหูทั้ง 2 ข้างไล่ลงมาจนถึงติ่งหู

  • การเคลื่อนไหวสลับข้าง ท่าจีบ L ยกมือทั้งสองขึ้นมา มือขวาทำท่าจีบ นิ้วหัวแม่มือประกบกับนิ้วชี้ มือซ้ายทำรูปตัว L โดยกางนิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้ออกไป นิ้วที่เหลือกำเอาไว้ หลังจากนั้น มือแต่ละข้างเปลี่ยน โดย จากจีบเป็น L อีกข้างก็จาก L เป็นจีบ ทำเช่นนี้สลับไป-มา 10 ครั้ง หรือจะลองดูท่าโป้ง-ก้อย โดย ยกมือทั้งสองข้างขึ้นมา มือขวาชูนิ้วโป้ง มือซ้าย ชูนิ้วก้อย นิ้วที่เหลือกำเอาไว้ หลังจากนั้น มือแต่ละข้างเปลี่ยน โดยจากโป้ง เป็นก้อย อีกมือก็จากก้อยเป็นโป้ง ทำเช่นนี้สลับไป-มา 10 ครั้ง

  • การผ่อนคลาย ใช้มือทั้ง 2 ข้าง ประกบกันในลักษณะพนมมือเป็นรูปดอกบัวตูม โดยให้นิ้วทุกนิ้วสัมผัสกันเบา ๆ (ย้ำว่า แค่เบา ๆ พอนะ) พร้อมกับหายใจเข้า-ออก ทำท่านี้ประมาณ 5- 10 นาที


อย่าเผลอตกใจล่ะ หากกำลังนั่งรถเมล์ แล้วมีป้าข้าง ๆ กำลังวุ่นอยู่กับ สองมือของเขา จุ๊ ๆ อย่าเอ็ดไปนะ เขาอาจกำลังฝึกท่าบริหารสมองอยู่ก็เป็นได้ เพราะท่าที่เรานำเสนอในวันนี้ สามารถทำได้ ทุกที่ ทุกเวลา ยิ่งทำมาก ยิ่งฝึกสมองให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รู้อย่างนี้แล้ว รอช้าอยู่ใย วางกระเป๋า แล้วยกมือขึ้นจีบ L บริหารสมองกันดีกว่า


////////////////////////////////////////////////////

บทความ: โดย บริษัท ออลไรท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด

ดู 57 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page