top of page

จัดบ้านอย่างไร เอาใจวัยเก๋า


วิทยากร: ผศ.ดร.ชุมเขต แสวงเจริญ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หัวหน้าศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน และหัวหน้าหน่วยวิจัยและออกแบบเพื่อคนทั้งมวล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


นอกจาก สุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม เป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้สูงอายุและคนในครอบครัวเกิดความกังวลแล้วนั้นสภาพแวดล้อมของบ้าน เป็นอีกเทรนด์ที่น่าจับตามอง ด้วยประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย และจะเกิดอะไรขึ้นหากวันหนึ่งพบว่า บ้านที่เคยปลอดภัย เมื่ออายุมากขึ้น จะกลายเป็นไม่ปลอดภัยสำหรับเราไปแล้ว

เรื่องการจัดบ้านเป็นเรื่องใกล้ตัว ที่หลายคนอาจจะละเลย สถิติของผู้สูงอายุที่เสียชีวิตด้วยการล้มของไทย เฉลี่ย 1,000 คน/ปี ซึ่งการที่เกิดอุบัติเหตุล้ม ใน 1 ครั้ง ทำให้อายุสั้นลง 10 ปี เลยทีเดียว ขึ้นชื่อว่า ผู้สูงอายุเป็นวัยที่ร่างกายเปลี่ยนไปในทางที่เสื่อมลง ทำให้ปัจจัยที่เปลี่ยนไปนั้น คือ ร่างกาย สายตา และการได้ยิน ผศ.ดร.ชุมเขต แสวงเจริญ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หัวหน้าศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน และหัวหน้าหน่วยวิจัยและออกแบบเพื่อคนทั้งมวล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายถึงความสัมพันธ์ของการจัดบ้านกับปัจจัยในด้านต่าง ๆ ของผู้สูงอายุ ว่า ร่างกาย จะเสียสมดุล ผู้สูงอายุจึงต้องจัดระเบียบท่าเพื่อให้สมดุล มีการเดินลักษณะเหมือนเต้นลีลาศ ไม่ยกเท้าสูง เดินแบบ ก้าว*ชิด-ก้าว เรื่องสายตา มีโรคที่เกี่ยวกับตา เช่น ต้อกระจก ทำให้เห็นเลือนราง เวลาเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ ต้องใช้ชีสันชัดเจน ใหญ่ ๆ มีการติดตั้งโทรศัพท์ฉุกเฉินและมีตัวอักษรใหญ่ ๆ โรคต้อหิน โรคเบาหวานขึ้นตา ลักษณะการมองเห็นจะแคบลง ทำให้ระยะการมองเห็นไม่ชัดเจน ดังนั้น มุมโซฟา หรือโต๊ะที่เป็นเหลี่ยมจึงจำเป็นต้องบุด้วยผ้าเพื่อป้องกันการบาดเจ็บ และสุดท้าย คือ การได้ยิน เสียงที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ คือ เสียงทุ้ม ดัง ช้า ชัด ฟังรู้เรื่องนั่นเอง


ผศ.ดร.ชุมเขต ยังบอกอีกว่าอีกว่า การปรับปรุงบ้าน ถ้าเป็นไปได้ ก็ควรทำบ้านที่เหมาะสมไปเลย เพราะนอกจากจะได้ประโยชน์สำหรับผู้สูงอายุแล้ว ยังเหมาะสำหรับทุกวัยอีกด้วย อีกทั้งยังแนะนำถึงวิธีการจัดบ้านให้ถูกใจ ปลอดภัย และเหมาะสมกับวัยเก๋า ลองเดินสำรวจรอบ ๆ บ้านสิว่า มีครบตามคำแนะนำหรือไม่ ไปลองสำรวจพร้อม ๆ กันดีกว่า


1.ทางเข้าประตูบ้าน ต้องเข้าออกได้อย่างสะดวกสบาย โดยให้ประตูทางเข้าบ้านตรงกับรั้วมากที่สุด เพื่อสะดวกเวลาฉุกเฉิน และประตูรั้วมีน้ำหนัก ดังนั้นอย่าเปิดเอง เพราะเสี่ยงต่อการล้มทับได้ จึงต้องติดตั้งรีโมทเปิดปิด หรือ เพิ่มประตูช่องเล็กๆ ก็จะเป็นการลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ ส่วนประตูทางเข้าบ้านนั้น ควรติดไฟเซ็นเซอร์ มีช่องกระจกเอาไว้สังเกตสถานการณ์นอกบ้าน รวมถึงประตูเข้าบ้าน ควรจะเปิดไปข้างนอก โดยใช้แบบก้านโยกไม่แนะนำเป็นลูกบิด หรือใช้ประตูแบบเลื่อนรางบน เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ นอกจากนี้ ไม่ควรใช้พรม เพราะอาจทำให้วัยเก๋าเสียการทรงตัวและลื่นล้มได้ จึงสนับสนุนให้ผู้สูงวัยใส่รองเท้าในบ้านแทนกันลื่น สิ่งสำคัญเลยคือ ควรติดตั้งราวจับให้ทั่วบ้าน โดยเฉพาะทางเดินระหว่างห้องนอนไปห้องน้ำ


2.บันได การขึ้น-ลงบันได มีแต่โทษ จึงไม่แนะนำให้ผู้สูงอายุนอนชั้นบน แนะนำให้นอนชั้นล่างดีที่สุด แต่ถ้าเลี่ยงไม่ได้ ควรป้องกันโดยการทำบันไดมีลูกตั้งขนาด 15 เซนติเมตร ลูกนอน 30 เซนติเมตร มีราวจับทั้งสองด้าน ราวจับมีลักษณะกลม เส้นผ่าศูนย์กลาง 2-4 เซนติเมตร เมื่อขึ้นบันไดไป 2 เมตร ต้องมีชานพัก และจุดปลายของบันไดต้องยื่นออกมา 30 เซนติเมตรและขนานกับพื้น


3.ทางลาด ทุกคนสามารถขึ้นทางลาดได้ กรณีฉุกเฉินก็สามารถใช้ได้ ที่สำคัญคือ ทางลาดไม่ใช่ทางชัน ดังนั้น เวลาทำหรือปรับปรุง ต้องบอกช่างว่า ทำทางลาดขนาด 1 ต่อ 12 และข้างๆ ทางลาด ควรปลูกต้นไม้นิ่มๆ ไว้เผื่อกันล้ม


4.ห้องน้ำ คือส่วนที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด เพราะ ลื่น ชื้น และมีเชื้อโรค นับว่าเป็นจุดที่อันตรายที่สุด ดังนั้น โถส้วมควรเป็นแบบนั่งราบ มีพนักพิงหลัง เพื่อไม่เสียการทรงตัว และมีความสูงที่เหมาะสม ต้องให้ปุ่มกดชักโครกอยู่ด้านข้าง จะได้ไม่เอี้ยวตัวไปกดด้านหลังจนทำให้ล้มได้ ด้านที่ใกล้ผนังให้ติดตั้งราวเป็นรูปตัวแอล เพื่อช่วยในการทรงตัว ส่วนที่นั่งอาบน้ำ ต้องมีพนักพิง มีที่เท้าแขน มีตัวปรับระดับได้ ฝักบัวต้องเป็นแบบเลื่อนขึ้น-ลง ได้ ก๊อกน้ำเป็นแบบก้านโยก ควรมีระบบขอความช่วยเหลือในห้องน้ำเช่นกัน


5.ห้องนอน เตียงต้องเคลื่อนย้ายได้ มีหน้าต่าง มีปุ่มสัญญาณฉุกเฉิน มีห้องน้ำใกล้ๆ เตียงต้องเดินได้ 3 ด้าน มีพื้นที่ว่างด้านข้างสำหรับผู้ช่วย


รู้อย่างนี้แล้ว ลูก ๆ หลาน ๆ คงหัวหมุนกับการเลือกซื้อวัสดุมาตกแต่งให้บ้านปลอดภัยมากที่สุด แต่รับรองว่าคุ้มค่าแน่นอนหากเทียบกับการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดความสุญเสียของคนในบ้าน หากใครมีแพลนที่จะสร้างบ้านใหม่ ก็อย่าลืมนำคำแนะนำข้างต้นมาประยุกต์ใช้ เพราะเขาการันตีว่า เหมาะสำหรับทุกคนเพื่อความปลอดภัยของทุกคนในบ้านนั่นเอง


////////////////////////////////////////////////////

บทความ: โดย บริษัท ออลไรท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด

ดู 3 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page