top of page

การเตรียมตัวสำหรับ “วันสุดท้ายของชีวิต”


วิทยากร: พญ. สุดาทิพ ศิริชนะ อายุรแพทย์ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า


คนส่วนใหญ่เข้าใจเรื่อง การเกิด แก่ เจ็บ ตาย แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะสามารถดำเนินชีวิตไปอย่างที่ตัวเองเข้าใจ หรือ ต้องการได้ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสมควร หรือถึงขั้นจำเป็น ที่จะต้อง “วางแผน” เพื่อให้ไปถึงวันสุดท้ายของชีวิต อย่างสงบสุข และมีศักดิ์ศรี

พญ. สุดาทิพ ศิริชนะ อายุรแพทย์ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า กล่าวถึงการวางแผนเพื่อวันสุดท้ายของชีวิตว่า ในชีวิตทุกช่วงวัยของคนเรา มนุษย์มักจะวางแผนที่จะทำสิ่งต่าง ๆ มาโดยตลอด ดังนั้นเมื่อถึงช่วงปลายวงจรชีวิต ก็จะมีการวางแผนในการเดินทางไปถึงวันสุดท้าย จะเตรียมตัวอย่างไร ให้มีความสบายและมีความสุข ญาติ ตัวเราเอง จะปฏิบัติตัวอย่างไร เป็นการออกแบบชีวิตตัวเองเพื่อให้ได้อย่างที่ต้องการ


ทุกคนอยากตายอย่างสงบ โดยไม่มีใครฉุดรั้งให้ทรมาน นั่นหมายถึงตายอย่างมีศักดิ์ศรี แต่ในมุมกลับความคิดของคนเป็นญาติ เป็นลูก อาจจะคิดว่าไม่อยากให้จากไป ก็อยากจะยื้อชีวิตของคนที่รักไว้ให้นานที่สุดจนลืมไปว่า มันทำให้คนป่วยไม่สุขสบาย


“ตรงนี้เป็นที่มาของคำถามที่ว่า อยากตายแบบไหน บางคนบอกว่าต้องสมเกียรติ เครื่องมือช่วยเหลือเต็มที่ มีหมอเก่ง มีเครื่องช่วยหายใจไว้ ใส่อวัยวะเทียมเข้าไป แต่หากเราทำอย่างนั้นแล้วเขามีความสุขไหม มีคุณภาพชีวิตที่ดีหรือไม่ ในวันที่ได้รับการรักษาเต็มที่ แต่ญาติเข้าเยี่ยมไม่ได้ คุยไม่ได้เพราะต้องใส่ท่อช่วยหายใจ กอดลูกไม่ได้ หรืออยากอยู่บ้าน ล้อมรอบด้วยสิ่งแวดล้อมที่เราคุ้นเคย”

โดยหลักสำคัญ 2 อย่างสำหรับการทำให้วาระสุดท้ายเป็นอย่างไปสงบสุขได้แก่ “หนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุข หรือ Living Will” และ “การดูแลประคับประคอง หรือ Palliative Care”


ตามพระราชบัญญัติ สุขภาพแห่งชาติ มาตรา 12 ว่าด้วย บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้



การดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง เมื่อผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขได้ปฏิบัติตามเจตนาของบุคคลตามวรรคหนึ่งแล้ว มิให้ถือว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดและให้พ้นจากความรับผิดทั้งปวง


สำหรับหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุข หรือ Living Will คือหนังสือเจตนาที่จะรักษาตน หรือไม่ปรารถนาการรักษาในวันที่ตนไม่รู้สึกตัวและไม่สามารถสื่อสารกับผู้อื่นได้ รวมทั้งความต้องการที่จะเสียชีวิตที่บ้าน หรือ โรงพยาบาล ต้องการให้ญาติคนไหนอยู่ด้วยในวาระสุดท้ายของชีวิต หรือต้องการทำบุญหรือนิมนต์พระรูปใดมาในวันสุดท้าย คือเป็นหนังสือวางแผนการเดินทางว่า เมื่อถึงวันที่เราต้องจากไป เราจะไปแบบไหน


“คำว่า ศักดิ์ศรี ในที่นี้หมายถึง ศักดิ์ศรีความเป็นคน การที่เราสามารถกำหนดตัวเราเองได้ และผู้อื่นเคารพการตัดสินใจของตัวเรา ไม่ได้หมายความว่ามีตำแหน่งใหญ่โตหรือมีทรัพย์สินพันล้าน แต่คือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ที่สามารถเลือกได้ว่าจะกินหรือไม่กิน ถ่ายหรือไม่ถ่าย หรือไม่อยากปั๊มหัวใจเพราะมันเจ็บมากแล้ว เป็นต้น”


วัตถุประสงค์ของการทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุข (living will) มีดังนี้

  1. รับรองสิทธิ์ของผู้ป่วยที่จะตัดสินใจเกี่ยวกับตนเองที่จะขอจากไปอย่างสงบตามธรรมชาติและมีศักดิ์ศรี ไม่ต้องทุกข์ทรมาน ถูกเหนี่ยวรั้งด้วยเครื่องมือทางการรักษาใด ๆ

  2. ลดความขัดแย้ง ความกังวลในการตัดสินใจเกี่ยวกับการรักษาช่วงสุดท้ายของญาติและทีมรักษา

  3. ลดความสูญเสียทางการเงิน

  4. เป็นโอกาสในการที่จะสื่อสารร่ำลา แจ้งความต้องการ มอบอำนาจในการตัดสินใจให้ผู้แทน

  5. เป็นการสร้างคววามสุขสงบทางใจ เตรียมพร้อมทางจิตวิญญาณ

สำหรับการเขียนหนังสือหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุข (Living will) นั้น สามารถทำที่ไหน และเมื่อไรก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ใกล้ถึงวันสุดท้าย เพราะอาจจะมีความสับสนทางความคิดเพราะมีห่วงหลายอย่าง แต่

พญ. สุดาทิพ แนะนำว่าให้ทำตอนที่มีสติสัมปชัญญะครบถ้วนสมบูรณ์ เพื่อให้มีเวลาตรึกตรอง วางแผน และผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ควรให้บิดา มารดา ผู้ปกครองร่วมตัดสินใจ และในกรณีที่อยูในภาวะไม่เหมาะสม เช่น ภาวะซึมเศร้า ต้องให้จิตเวช ประเมินก่อน ว่าผู้ทำมีสติสัมปชัญญะครบถ้วนมีสติในการตัดสินใจหรือไม่ โดยเนื้อหาในหนังสือแสดงเจตนาฯ จะสามารถเปลี่ยนได้ตลอดเวลา


สำหรับวิธีการทำนั้น สามารถเขียนด้วยลายมือ หรือดาวน์โหลดแบบฟอร์มได้จาก www.thailivingwill.in.th โดยต้องมีวันเดือนปีที่เขียน เนื่องจากหากมีการเปลี่ยนแปลงจะได้ยึดวันล่าสุด ต้องมีพยานรับทราบ โดยพยานไม่จำเป็นต้องญาติ แต่จะเป็นหมอ เป็นพยาบาลก็ได้ และแนะนำให้ทำสำเนาไว้ที่เรา 1 ชุด ไว้ที่ญาติที่เราไว้ใจ 1 ชุด


และหนังสือแสดงเจตนาฯ จะถูกนำมาใช้เมื่อแพทย์ผู้ทำการรักษาระบุว่า คนไข้ได้อยู่ในช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิตแล้ว

“วาระสุดท้ายของชีวิต” นั้น หมายถึง ภาวะที่คนไข้อยู่ในช่วงที่แพทย์วินิจฉัยแล้วว่า ไม่ว่าจะรักษาอย่างไร คนไข้ก็จะไม่สามารถฟื้นกลับมามีชีวิตอีกได้ เช่น อยู่ในภาวะสมองตาย โดยยกกรณีตัวอย่างว่า มีเด็กแรกเกิดคนหนึ่ง มีภาวะคลอดก่อนกำหนด สำลักน้ำคร่ำ ติดเชื้อ ตอนแรกเกิดตัวเขียว ออกซิเจนต่ำ ไม่ตอบสนองต่อการกระตุ้น แต่มีสัญญาณชีพเบา ๆ จึงได้รับการประเมินว่า เมื่อช่วยแล้วจะสามารถกลับมาฟื้นคืนปกติได้ต่ำมาก จึงคุยกับพ่อแม่ว่า อยากให้ใส่เครื่องช่วยหายใจหรือไม่ หากใส่เด็กอาจจะอยู่ได้ไม่เกิน 1 สัปดาห์...นี่คือวาระสุดท้ายของชีวิต


“การดูแลประคับประคอง หรือ Palliative Care” คือดูแลผู้ป่วยที่เป็นโรครักษาไม่หาย โดยให้การปัองกัน บรรเทาอาการ ตลอดจนการบรรเทาความทุกข์ทรมานด้านต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น เป็นการดูแลแบบองค์รวมครอบคลุมทุกมิติของปัญหาสุขภาพ ทั้งกายใจ และสังคม โรคที่ต้องการการดูแลประคับประคอง เช่น หัวใจ, โรคเที่เกี่ยวกับปอด, มะเร็ง, เอดส์, ไตระยะสุดท้าย,โรคทางสมอง (หลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาต) อัลไซเมอร์


การประคับประคองในแต่ละโรคแพทย์จะระบุว่า คนไข้ต้องได้รับการดูแลแบบประคับประคองเมื่อแพทย์วินิจฉัย พยากรณ์โรค และแนวทางการรักษา จากนั้นจึงนำข้อมูลทั้งหมดมากำหนดเป้าหมายร่วมกัน ทั้งแพทย์ ญาติ และตัวผู้ป่วย ว่าจะให้การดูแลผู้ป่วยอย่างไร


การดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองนั้น สามารถทำได้ทั้งที่บ้านและโรงพยาบาล ซึ่งมีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันออกไป รวมไปถึงต้องพิจารณาถึงความจำเป็นในคนไข้แต่ละคนด้วย


การดูแลแบบประคับประคองที่บ้าน ผู้ป่วยจะได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่คุ้นเคย โดยผู้ป่วยที่กลับบ้านได้จะเป็นคนไข้ที่แพทย์วินิจฉัยแล้วว่าการรักษาที่โรงพยาบาลหรือกลับไปดูแลที่บ้านจะให้ผลไม่ต่างกัน ทั้งนี้ต้องดูความพร้อมในแต่ละบ้านด้วย บางคนอาจจะไม่มีคนดูแล ญาติต้องลาออกจากงานเพื่อดูแลผู้ป่วย ทำให้บางรายเกิดปัญหาทางการเงินจนเกิดความเครียดและมีภาวะซึมเศร้าในที่สุด


สำหรับการดูแลแบบประคับประคองที่โรงพยาบาล จะเป็นการให้การรักษาประคับประคองเพื่อให้ผู้ป่วยไม่ทุกข์ทรมาน เช่น คนไข้มะเร็ง ก็จะประคับประคองโดยการให้ยาแก้ปวดเมื่อมีอาการ หรือบรรเทาอาการเหนื่อย อืด แน่นท้อง แต่ไม่ได้หมายความรวมไปถึงการฉายแสง ผ่าตัด เพราะรู้แล้วว่า ต่อให้เราทำเต็มที่ก็ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์


ข้อดีของการดูแลที่โรงพยาบาล คือ คนไข้จะถูกห้อมล้อมด้วยทีมแพทย์สหสาขา ญาติอุ่นใจ เพราะจะช่วยเหลือได้ทันท่วงที แต่ข้อจำกัดคือ ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง บางครั้งค่าใช้จ่ายอยู่นอกเหนือการรักษา ซึ่งความเหงาของคนป่วย เป็นเรื่องเล็ก ๆ ที่ใหญ่ เพราะในวันหนึ่งเมื่อถึงจุดสุดท้าย สิ่งที่เกิดขึ้นกับทุกคน คือความกลัว อยากมีคนคุ้นเคยทั้งที่รักเราและเรารักอยู่ข้างๆ แต่ขณะที่การอยู่โรงพยาบาลมีอาจกำหนดหลายอย่างที่ไม่สามารถให้คนที่รักอยู่เคียงข้างได้ เช่น เวลาเยี่ยม


“ความตายน่ากลัวหรือไม่” พญ.สุดาทิพ ตอบเป็นเรื่องเล่าว่า สมมติว่าเราพาท่านไปยังที่แห่งหนึ่งซึ่งมืดสนิทและไม่เคยไปมาก่อน แล้วบอกให้เราเดินเข้าไป เราจะกลัวเพราะเราไม่รู้ว่าสิ่งที่ประสบพบเจอคืออะไร อันนี้เป็นธรรมชาติของมนุษย์ แต่ถ้าให้เราเข้าไปในห้องนั้นโดยมีไฟฉายไปด้วย ความกลัวจะน้อยลง เพราะเราสามารถฉายไฟ หาสวิตช์ไฟ แล้วเปิดไฟให้สว่างได้ ความตายก็เช่นเดียวกัน


////////////////////////////////////////////////////

บทความ: โดย บริษัท ออลไรท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด

ดู 1,049 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page