top of page

ยา สมุนไพร อาหารเสริม กินใช้อย่างไรให้ได้ประโยชน์


วิทยากร: ผศ.ดร. เอกราช บำรุงพืชน์ ผู้จัดการศูนย์วิจัยโภชนเภสัชภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ธรรมชาติเพื่อสุขภาพและการชะลอวัย และอาจารย์ประจำหลักสูตรวิยาการชะลอวัย และฟื้นฟูสุขภาพ วิทยาลัยการแพทย์บูรณาการ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์


เมื่ออายุมากขึ้น.. การทำงานของร่างกายย่อมเสื่อมถอยลงไป ปัญหาสุขภาพจึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจ หลีกเลี่ยงได้ ซึ่งนอกจากการรักษาโดยการพบแพทย์แผนปัจจุบันแล้ว หลายคนก็อาจจะยังสงสัยกัน อยู่ว่า เราสามารถกิน ยา สมุนไพร และอาหารเสริม ควบคู่กันได้หรือไม่? และควรใช้อย่างไรจึงจะดี และปลอดภัย?

ยา สมุนไพร อาหารเสริม มีลักษณะแตกต่างกันอย่างไร? ถ้าจะพูดให้เข้าใจกันอย่างง่าย ๆ ก็คือ “ยา” ใช้สำหรับรักษาโรค “สมุนไพร” ใช้สำหรับป้องกันรักษา หรือส่งเสริมสุขภาพ และ “อาหารเสริม” คือ ผลิตภัณฑ์ที่เสริมมาจากอาหาร ใช้สำหรับบำบัดโรค แต่ไม่มีผลในการป้องกันและรักษาโรค โดยสมุนไพร และอาหารเสริมนับเป็นทางเลือกเบื้องต้น เพื่อช่วยป้องกัน และชะลอการเกิดโรคก่อนการรักษาด้วยยา


แต่ไม่ว่าจะ ยา สมุนไพร หรืออาหารเสริม ก่อนที่เราจะเลือกรับประทาน ก็ควรตรวจสอบว่ามีความปลอดภัยและมีข้อพึงระวังอย่างไรบ้าง ซึ่งเราสามารถตรวจสอบได้ด้วยตัวเองจากแหล่งข้อมูลสุขภาพที่เชื่อถือได้โดยถ้าเป็นเรื่องอาหารเสริม และสมุนไพร สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ที่ “สำนักงานข้อมูลสมุนไพร” (www.medplant.mahidol.ac.th/index.asp) ส่วนถ้าเป็นเรื่องยา สามารถเข้าไปตรวจสอบหได้ที่ “หน่วยคลังข้อมูลยา” (www.pharmacy.mahidol.ac.th/dic/)


การกินสมุนไพร และอาหารเสริม ควรประเมินจากปัญหาสุขภาพก่อน หากมีปัญหาสุขภาพอยู่ในระดับที่ยังไม่ต้องกินยา ก็สามารถกินสมุนไพร และอาหารเสริม เพื่อช่วยบำบัดหรือบรรเทาอาการได้ แต่ในกรณีที่เกิดโรค และรักษาด้วยการกินยาแล้ว จะต้องระวังเรื่อง ปฏิสัมพันธ์ระหว่าง อาหาร/อาหารเสริม/สมุนไพร กับ ยา ที่หากกินร่วมกันอาจมีอันตรายที่ควรพึงระวังหลายอย่าง ยกตัวอย่างเช่น

  • ยาลดความดัน มีผลทำให้โพแทสเซียมในเลือดสูง ซึ่งจะส่งผลให้หัวใจเต้นผิดปกติ จึงควรหลีกเลี่ยงอาหารที่เป็นแหล่งโพแทสเซียม อย่าง กล้วย ส้ม ผักใบเขียว น้ำปลา (โซเดียมต่ำ) หรือ อาหารเสริมที่มีส่วนผสมของโพแทสเซียม

  • ยาลดไขมัน ควรหลีกเลี่ยงอาหารเสริม หรือ พืชสมุนไพร ที่มีส่วนผสมของซิตรัส (ผลไม้ตระกูลส้ม) ซึ่งจะทำให้ตัวยาดูดซึมมากขึ้น และอาจส่งผลข้างเคียงเพิ่มขึ้นด้วย เช่น ตับอักเสบ หรือ การปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ

  • ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ควรหลีกเลี่ยงอาหาร และอาหารเสริมที่มีวิตามิน K และ E รวมถึงไม่ควรกินร่วมกับ น้ำมันปลา สารสกัดจากใบแปะก๊วย ขมิ้นชัน กระเทียม โสม และถังเช่า

  • ยาปฏิชีวนะ/ยาฆ่าเชื้อ ควรหลีกเลี่ยงอาหาร และอาหารเสริมที่มีส่วนประกอบของแคลเซียมและเหล็ก เนื่องจากมีผลทำให้ประสิทธิภาพของยาลดลง อาจส่งผลทำให้ติดเชื้อนานขึ้น หรือหายป่วยช้าลง

เพราะฉะนั้นแล้วเมื่อไหร่ก็ตามที่กินยาตามแพทย์สั่งแล้ว จะต้องระวังเรื่องการกินสมุนไพรและอาหารเสริม ซึ่งเราอาจกินสมุนไพรควบคู่กับการกินยาที่ใช้รักษาโรคของแพทย์แผนปัจจุบันได้ แต่ควรต้องแจ้งชื่อสมุนไพร หรืออาหารเสริมให้แพทย์ผู้รักษาทราบด้วย และถ้าเกิดมีอาการผิดปกติ หรือข้อสงสัยในการใช้ อาจสอบถามแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพ


ส่วนการกินอาหารเสริม จำพวกวิตามิน A, C, E แคลเซียม และอื่น ๆ เราควรประเมินก่อนว่าภาวะสุขภาพ หรือภาวะโภชนาการของเรานั้น ขาดพร่องสารอาหารตัวไหนอยู่หรือไม่ และหากจำเป็นต้องกินเพื่อเติมส่วนที่ขาด ก็ควรจะต้องกินในปริมาณที่พอเหมาะ เพราะการกินเกินค่าที่เหมาะสม (ค่า UL*) ก็อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้


ในส่วนของสมุนไพรถ้ากินในรูปแบบของอาหาร จะมีความปลอดภัยมากกว่ากินในรูปแบบอาหารเสริมที่เป็นสมุนไพรสกัด ซึ่งจะมีความเข้มข้นมาก อาจส่งผลให้ตับทำงานหนักหากกินในปริมาณที่มากเกินความจำเป็น ทั้งนี้การกินสมุนไพรก็มีข้อพึงระวังอื่น ๆ อีก เพราะสมุนไพรบางชนิด อาทิ รางจืด มีคุณสมบัติดีท็อกซ์ ล้างพิษ แต่อาจไปล้างยารักษาที่ทานอยู่ไปด้วยได้ นอกจากนี้สมุนไพรบางอย่างถ้ากินมากเกินไป หรือไปกินเสริมร่วมกับยารักษา ก็อาจส่งผลเสีย และเป็นอันตรายต่อร่างกายได้เช่นกัน


โดยแนวทางการกินผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ควรลำดับการกินเริ่มจาก “กินอาหารให้เป็นยา” ก่อน เพื่อป้องกัน และชะลอการเกิดโรค แต่เมื่อไหร่ที่ไม่สามารถกินอาหารเพื่อเป็นยาได้แล้ว และประเมินแล้วว่าภาวะสุขภาพมีความขาดพร่องสารอาหารบางอย่าง ก็สามารถทานอาหารเสริม หรือสมุนไพรเป็นทางเลือกช่วยได้ ทั้งนี้ก็ควรทานในปริมาณที่เหมาะสมด้วยเพื่อความปลอดภัย ส่วนลำดับสุดท้ายคือการรับประทานยารักษาโรค ซึ่งควรกินตามที่แพทย์แนะนำเท่านั้น


นอกจากการกินยา สมุนไพร และอาหารเสริมอย่างเหมาะสมแล้ว อีกส่วนสำคัญในการดูแลสุขภาพก็คือ การกินอาหารตามหลัก 2:1:1 ซึ่งถือเป็นการใช้อาหารในการดูแลสุขภาพ ที่จะช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรค NCDs ที่จะต้องใช้ยารักษาต่าง ๆ ในขณะเดียวกันก็ควรออกกำลังกาย และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอด้วย


นอกจากความรู้ความเข้าใจเรื่องยา สมุนไพร และอาหารเสริมแล้ว ก็ยังมีกิจกรรม “ทำยาหม่องขี้ผึ้งสมุนไพร” ที่สามารถทำได้ง่าย ๆ ด้วยตัวเอง


โดยเริ่มจากนำส่วนผสม ได้แก่

  • วาสลีน (15 กรัม)

  • ขี้ผึ้ง (3 กรัม) และ

  • ไพลผง, พิมเสน, เมนทอล, การบูร (อย่างละ ½ ช้อนชา)

วิธีทำ: ตุ๋นโดยใช้ไฟกลางจนละลายเป็นเนื้อเดียวกัน จากนั้นหยดน้ำมันสะระแหน่ 10 หยด และน้ำมันดอกทานตะวัน 20 หยด เมื่อส่วนผสมเข้ากันดีแล้ว จึงบรรจุใส่ขวดและทิ้งไว้ให้เย็น เมื่อยาหม่องขึ้นรูปแล้วจึงปิดฝา เท่านี้ก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อย



////////////////////////////////////////////////////

บทความ: โดย บริษัท ออลไรท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด



ดู 888 ครั้ง0 ความคิดเห็น

ความคิดเห็น


bottom of page