วิทยากร: รองศาสตราจารย์ นพ.ปัญญา ไข่มุก คณะกรรมการกองทุน สสส. แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูก ข้อ และวิทยาศาสตร์การกีฬา

จะเป็นอย่างไรเมื่อข้อเข่าต้องการความช่วยเหลือ?
“จะลุกก็โอย จะนั่งก็โอย เหมือนดอกไม้โรย ไม่มีเกสร...” เมื่อ ‘เข่า’ ที่เป็นอวัยวะสำคัญในการรับน้ำหนักตัวและเคลื่อนไหวมาหลายสิบปีส่งความเจ็บปวดเข้ามาเตือน นั่นจึงเป็นสัญญาณของ “โรคข้อเข่าเสื่อม”
ข้อเข่าเสื่อม คือโรคที่เกิดจากกระดูกอ่อนที่ทำหน้าที่เสมือนกันชนที่รองรับน้ำหนักและแรงกดกระแทกของร่างกายเสื่อมสภาพลง เมื่อกระดูกที่ว่านี้เสื่อมสภาพจนบางมากขึ้นเรื่อยๆ จะทำให้กระดูกในข้อเข่าเสียดสีกัน จนเป็นสาเหตุของอาการปวดและอักเสบ ซึ่งอาการนี้เองที่ทำให้วัยเก๋าไม่ค่อยแฮปปี้กับไลฟ์สไตล์ในชีวิตประจำวันกันมากนัก แล้วมีสาเหตุอะไรบ้างที่ทำบ่อย ๆ แล้วข้อเข่าจะยิ่งเสื่อม?

รองศาสตราจารย์ นพ.ปัญญา ไข่มุก คณะกรรมการกองทุน สสส. แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูก ข้อ และวิทยาศาสตร์การกีฬา ให้คำตอบว่า ข้อเข่าเสื่อมเป็นโรคด้านข้ออันดับ 1 ของคนไทย ที่พบในวัยเก๋าอายุ 55 ปีขึ้นไป แต่หากยังไม่ถึงวัยแล้วมีอาการนั่นก็แสดงว่าเป็นก่อนวัยอันควร เกิดจากไลฟ์สไตล์ที่ชอบงอเข่าเกิน 90 องศา เช่น นั่งยอง ๆ นั่งขัดสมาธิ นั่งพับเพียบ คลานเข่า คุกเข่า ทำให้เกิดแรงบีบกระแทกบริเวณกระดูกในข้อเข่า เมื่อทำซ้ำหลาย ๆ ปี จึงทำให้กระดูกสึกหรอไวขึ้น ยิ่งผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากก็ยิ่งต้องระวัง เพราะทุก ๆ อิริยาบถที่ขยับร่างกาย ข้อเข่าจะต้องรับหน้าที่รองน้ำหนักตัวเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นการเดิน วิ่ง ลุก นั่ง ขึ้น-ลงบันได หรือการกระโดด นอกจากนั้นพันธุกรรมและการเคยได้รับบาดเจ็บรุนแรงก็เป็นสาเหตุส่วนหนึ่งด้วย
เสียงดังกร๊อบ ๆ แกร๊บ ๆ เวลาขยับไม่ใช่สัญญาณของโรคข้อเข้าเสื่อมแต่เป็นเพราะกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นบริเวณนั้นไม่กระชับ ข้อเสื่อมจะไม่มีเสียงให้ได้ยิน แต่จะมีความรู้สึกฝืด ๆ ที่เสียดสีกันจากภายในข้อ ทำให้มีอาการปวดหรือเจ็บบ้างเวลาเคลื่อนไหว เหยียดข้อได้ไม่สุด ปวดเข่า ตึงน่อง เมื่อยน่อง เข่าบวม เดินแล้วไม่มั่นคง รู้สึกเหมือนเข่าหลวม จนกระทั่งเข่าโก่งผิดรูป หากโก่งมากแพทย์อาจให้รักษาด้วยการผ่าตัดข้อเข่าเทียม
จะวัยเก๋าหรือวัยหนุ่มสาวต้องรู้ทัน...ป้องกัน ‘ข้อเข่าเสื่อม’ เพียงเติมแคลเซี่ยมและวิตามินดีเพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กระดูก อาหารที่กินในประจำวันที่อุดมด้วยแคลเซียม เช่น ปลาลิ้นหมา ซุปน้ำต้มกระดูก ปลาเล็กปลาน้อย นม เนย โยเกิร์ต พืชผักใบเขียว คะน้า โหระพา ชะพลู ถั่วเหลือง เต้าหู้ ธัญพืช เห็ดหอม ใบมะกรูด งาดำ กะปิ พริกแห้ง และวิตามินดีที่ได้รับจากแสงแดดก่อน 8 โมงเช้า และหลัง 4 โมงเย็น เพราะร่างกายจะรับวิตามินดีจากการกินเพียง 20% อีก 80% ซึ่งวิตามินที่ได้ตรงนี้จำเป็นมาก เพราะจะถูกเอาไว้ใช้กับแคลเซียมที่ได้จากการกิน
ที่สำคัญต้องออกกำลังกายเพิ่มความกระฉับกระเฉง อย่างการยืนแกว่งแขน เดิน เต้นแอโรบิค ปั่นจักรยาน โดยไม่ต้องใช้ความหนักหน่วง อย่างการทำงานบ้าน หรือขึ้นลงบันไดก็ถือเป็นหนึ่งในการใช้กล้ามเนื้อแล้ว
สรุปแล้วสิ่งที่จะช่วยยืดระยะให้ห่างไกลข้อเข่าเสื่อมในแบบที่เราคอนโทรลได้นั่นคือ การควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่พอดี ไม่ต้องผอม แต่ก็ไม่ควรอ้วนลงพุง ปรับไลฟ์สไตล์ใหม่ ทั้งไม่นั่งงอเข่าเกิน 90 องศา ไม่อยู่ในท่าที่ทำให้ข้อเข่าต้องรับแรงอัดกระแทกหนักๆ เพิ่มวิตามินดีทั้งจากการกินและแสงแดดเพิ่มแคลเซียมให้กระดูก และออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อข้อเข่า เพียงเท่านี้ก็ยืดเวลาที่ลุกก็โอย นั่งก็โอยก่อนที่จะถึงวัยแล้ว

////////////////////////////////////////////////////
บทความ: โดย บริษัท ออลไรท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด
Comments