วิทยากร: อาจารย์อรรถยา สุนทรายน รองผู้อำนวยการสำนักงานประชาสัมพันธ์ ฝ่ายสื่อสารองค์กร และอาจารย์ประจำสาขาวิชามัลติมีเดีย คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
ในยุคของการถ่ายภาพด้วยฟิล์ม ตากล้องต้องจินตนาการ วัดแสง ตั้งค่า แล้วไปลุ้นกับภาพที่จะออกมาว่าจะเป็นอย่างไร ในยุคนั้นตากล้องจะต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญอย่างแท้จริงเพื่อให้ภาพที่ออกมาสวยงามตามที่ต้องการ แต่ในยุคนี้สมาร์ทโฟนสามารถถ่ายภาพและแก้ไขเพิ่มเติมได้อย่างใจนึก และทำให้ทุกคนกลายเป็นตากล้องมืออาชีพได้ด้วยเครื่องมืออันแสนสะดวกสบายนี้
วิวัฒนาการของการถ่ายภาพด้วยมือถือในยุคนี้ถือว่าทำได้ดี เพียงแค่ถ่ายภาพได้ก็ถือว่าสร้างสรรค์ผลงานได้ แต่คำถามคือ “จะถ่ายอย่างไรให้สวย?” อาจารย์อรรถยา สุนทรายน รองผู้อำนวยการสำนักงานประชาสัมพันธ์ ฝ่ายสื่อสารองค์กร และอาจารย์ประจำสาขาวิชามัลติมีเดีย คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต บอกว่า ภาพจะสวยหรือไม่สวยอยู่ที่แสง โดยแสงที่ดีจะมีอยู่ช่วงสองเวลาคือ ช่วงพระอาทิตย์ขึ้นและช่วงบ่ายสามโมง ไปจนถึงช่วงพระอาทิตย์ใกล้ตก เพราะจะได้ภาพถ่ายที่มีแสงสีส้มเป็นเครื่องตกแต่ง นอกจากนี้ยังมีอีกสามเทคนิคที่จะช่วยให้ภาพที่ออกมาสวยมากขึ้น ประกอบไปด้วย
1. การจัดองค์ประกอบของภาพ
การถ่ายภาพให้สวยไม่เพียงแค่หยิบกล้องหรือสมาร์ทโฟนขึ้นมาถ่ายภาพในแบบที่มันเป็นอยู่ แต่การจัดองค์ประกอบให้เกิดความสวยงามนั้น มีสิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึง ดังนี้
Subject วัตถุหรือสิ่งที่เราต้องการจะถ่ายภาพออกมาให้เด่น ไม่ว่าจะเป็นวัตถุ คน สิ่งของ เป็นสิ่งที่เราต้องโฟกัสและให้ความสำคัญ
Foreground เป็นสิ่งที่อยู่ด้านหน้า หรือใกล้กล้องจนกลายเป็นภาพเบลอ เราสามารถเลือกหยิบอะไรมาบังด้านหน้าเพื่อทำให้วัตถุด้านหลังดูเด่นขึ้น
Background คือฉากด้านหลังที่เราก็ต้องให้ความสำคัญ การถ่ายหน้าชัดหลังเบลอเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ทำให้วัตถุที่ต้องการจะโฟกัสเด่นขึ้น
2. จุดแห่งความสนใจ
การสร้างจุดความสนใจให้กับภาพไม่ควรวางวัตถุที่ต้องการจะถ่ายเอาไว้ตรงกลาง แต่ควรจะวางให้อยู่ภายใต้กฎสามส่วน หรือที่เรียกว่าจุดแห่งความสนใจ 4 จุด นอกจากนี้การเว้นที่ว่างเอาไว้ให้เยอะ ๆ โดยอาศัยจุดแห่งความสนใจเข้าช่วย จะทำให้การถ่ายภาพวัตถุที่ต้องการเด่นชัดขึ้น และยังสามารถใช้พื้นที่ว่างนั้นในการใส่ข้อความได้โดยไม่ดูรกตา
3. เส้นนำสายตา
อีกหนึ่งวิธีที่ทำให้ภาพถ่ายสวยขึ้นคือการอาศัยเส้นนำสายตา โดยใช้วัตถุหรือสิ่งของมาดึงจุดสนใจให้ภาพถ่ายของเรา โดยเส้นนำสายตานี้จะช่วยให้ภาพถ่ายดูมีมิติเพิ่มขึ้น ซึ่งการถ่ายโดยใช้เส้นนำสายตานั้นจะพาเราไปหาปลายทางที่ไม่สิ้นสุด หมายถึงการมองเห็นอนาคต ให้ความรู้สึกสุดลูกหูลูกตา
นอกจากนี้อีกหนึ่งสิ่งที่สมาร์ทโฟนทำได้มากกว่าการถ่ายภาพด้วยกล้องฟิล์มในอดีตคือ การแต่งภาพด้วยแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ ซึ่งปัจจุบันมีการให้บริการแอปพลิเคชั่นแต่งภาพมากมาย โดยสามารถเลือกใช้ได้ตามต้องการ โดยมีหลักการง่าย ๆ ดังนี้
เลือกภาพที่ต้องการปรับแต่งขึ้นมา
ใส่ฟิลเตอร์ (Filter) หรือการปรับแสงสีที่ชอบตามต้องการอัตโนมัติ
ใช้เครื่องมือเพิ่มเติมเพื่อสร้างสรรค์ภาพตามต้องการ เช่น การใส่ตัวหนังสือ ปรับย่อขยาย เพิ่มลดแสงสว่าง เป็นต้น
บันทึกภาพลงในเครื่อง หรือเผยแพร่ลงโซเชียลมีเดีย
สิ่งสำคัญในการถ่ายภาพไม่ใช่ตัวกล้อง แต่มันคือมุมมอง มองยังไงให้สวย เพราะการถ่ายภาพไม่มีรูปไหนสวยหรือไม่สวย ทุกภาพสวยในมุมของเรา เราคิดว่าสวย มันใช่ก็ถือว่าใช้ได้แล้ว เราจึงไม่ควรไปยึดติดกับอุปกรณ์ แต่ยึดกับสิ่งที่เราต้องการจะถ่ายทอดในมุมมองของเรา นอกจากนี้หากเราใส่ความรู้สึกเข้าไปในภาพถ่ายจะทำให้ภาพนั้นดูสวยขึ้น เพราะถือเป็นการสร้างความหมายให้กับภาพนั่นเอง
////////////////////////////////////////////////////
บทความ: โดย บริษัท ออลไรท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด
Commentaires