top of page

ที่สุดของการกินดี... จำเป็นมีผักและผลไม้เสริม เพื่อเพิ่มฟังก์ชันนอลในการลดโรค


วิทยากร: คุณแววตา เอกชาวนา นักโภชนาการ และที่ปรึกษาโครงการกินผักผลไม้ดีวันละ 400 กรัม


เรื่องแคลอรี่ก็สำคัญ แถมยังต้องเรียนรู้เรื่อง Functional Food เกี่ยวกับสารในอาหารที่ช่วยลดโรคเพิ่มอีก... มันคืออะไรกันแน่? และมีประโยชน์ต่อสุขภาพของเราอย่างไร?? วันนี้ คุณแววตา เอกชาวนานักโภชนาการ และที่ปรึกษาโครงการกินผักผลไม้ดีวันละ 400 กรัม ได้นำประสบการณ์ตรงในการสอนด้านโภชนาการตลอด 36 ปี มาถ่ายทอดในแบบง่าย ๆ ให้ได้รับรู้กัน...

ซึ่ง คุณแววตา เล่าว่า... ได้เริ่มขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกใน เมื่อราว ๆ 39 ปีที่ผ่านมา เพราะมีความต้องการที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรในประเทศให้มีอายุที่ยืนยาวขึ้น มีความจำดี พร้อมกับมีสุขภาพกายใจที่ดี และแข็งแรงตามไปด้วย จึงพัฒนาในเรื่องของอาหารที่รับประทานในชีวิตประจำวัน ว่าจะต้องมีคุณสมบัติในการรักษาโรค หรือใช้แทนยาได้ด้วย ซึ่งทางรัฐบาลของญี่ปุ่นเองก็ให้ความสำคัญและใส่ใจกับเรื่องนี้มาโดยตลอด

โดยอาหาร Functional Food ก็เปรียบเสมือนโบนัสพิเศษจากอาหารมื้อหลักในชีวิตประจำวัน 5 หมู่ ที่มาช่วยเสริมให้สุขภาพร่างกายนั้นดีขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่จะมาจากผักและผลไม้ ช่วยป้องกันโรคต่าง ๆ และความเสื่อมภายในร่างกาย ที่ไม่ใช่สารอาหาร และไม่ได้ให้พลังงาน แต่อาจมีส่วนช่วยชะลอวัย ป้องกัน หรือรักษาโรคได้ อาทิ ข้าวโอ๊ต: ที่มีฟังก์ชันนอลฟู้ด คือ เบตากลูแคน ที่ช่วยลดระดับ LDL หรือลดคอเรสเตอรอลในเส้นเลือดได้, ลูกหม่อน: ที่มีฟังก์ชันนอลฟู้ด คือ แอนโทไซยานีน ลดความเสี่ยงในการก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดในสมองตีบ, ปลาทู: มีฟังก์ชันนอลฟู้ด คือ โอเมก้า3 ที่ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน และช่วยลดการอักเสบในร่างกาย ป้องกันโรคหัวใจ ลดไขมันในเลือด ฯลฯ ซึ่งควรรับประทานให้ได้สัปดาห์ละ 200-300 กรัม เพื่อช่วยเพิ่มกรดไขมันโอเมก้า3 และวิตามินบี12 (แบบไม่ทอด) และที่สำคัญคือไม่จำเป็นต้องไปซื้อแพง ๆ แต่ในทุกวัน ทุกท่านควรรับประทานผักและผลไม้ให้ได้วันละ 400 กรัม (แบบหลากหลายสี) เพื่อเสริมมื้อหลัก เพื่อเป็นการเพิ่มฟังก์ชันนอลฟู้ดให้กับร่างกายเท่านั้น


ซึ่งสารอาหารที่แต่ละคนควรได้รับในแต่ละวันนั้น ก็ขึ้นอยู่กับ เพศ วัย อายุ และกิจกรรมในชีวิตประจำวัน โดยมีค่าเฉลี่ยคร่าว ๆ ดังนี้คือ เด็ก 6-13 ปี ควรได้รับพลังงานวันละ 1,600 กิโลแคลอรี่, ผู้หญิงวัยทำงาน 25-60 ปี 1,600 กิโลแคลอรี่, วับรุ่นหญิง-ชาย 14-25 ปี 2,000 กิโลแคลอรี่, ผู้ชายวัยทำงาน 25-60 ปี 2,000 กิโลแคลอรี่, นักกีฬา-ผู้ใช้แรงงาน 2,400 กิโลแคลอรี่ แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงอายุสูงวัย 60 ปีขึ้นไปควรได้รับประมาณ 1,600 กิโลแคลอรี่ และก็ไม่ควรน้อยกว่า 1,200 กิโลแคลอรี่ เพราะอาจเสี่ยงต่อการขาดสารอาหาร หรือได้รับสารอาหารที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายนั่นเอง


ถ้าอย่างนั้นผู้ที่ต้องการลดน้ำหนักด้วยการรับประทานอาหารที่มีแคลอรี่ต่ำ ๆ ในปริมาณน้อย ๆ ในแต่ละวันนั้น ถือเป็นการกระทำที่ถูกต้องหรือไม่?

ซึ่งเรื่องนี้ คุณแววตา กล่าวว่า... อันที่จริงแล้ว เราควรรับประทานอาหารให้เยอะ แต่ควรเลือกรับประทานอาหารที่ให้พลังงานน้อย จะได้รับประโยชน์ที่มากกว่า เพราะการที่เราเลือกรับประทานอาหารในปริมาณน้อย อาจจะทำให้ร่างกายรู้สึกว่ารับประทานอาหารไม่เพียงพอ และส่งผลเสียทางด้านอารมณ์ อาจทำให้เกิดอาการหงุดหงิดได้ง่ายมากขึ้น



ถ้าอย่างนั้นเมนูอาหารแคลอรี่สูงที่อยู่ในชีวิตประจำวันอย่างพวก ข้าวราดกะเพรา ราดหน้า ผัดไท สมควรรับประทานหรือไม่?

ที่คุณแววตา ให้ข้อคิดไว้ว่า... ถ้าจะรับประทานอาหารดังกล่าวนั้นได้ แต่ควรรับประทานผักผลไม้ หรืออาหารที่จะช่วยเสริมฟังก์ชันนอลเสริมควบคู่ไปด้วย อาทิ รับประทานผักใบเขียวให้ได้ อย่างน้อยวันละ 100 กรัม หรือรับประทานผักสีอื่น ๆ ให้ได้อย่างน้อยวันละ 100 กรัม เพื่อให้ได้รับสารอาหารที่ดีต่อร่างกายเพิ่มเข้าไป เพราะสารดังกล่าวจะไปช่วยในเรื่องของการลดความอ้วน ลดไขมัน และทำให้เราได้รับสารอาหารที่ดีมีประโยชน์ อย่างในผักสีเขียว จะมีคลอโรฟิลล์ ที่ช่วยลดกลิ่นในร่างกายได้ ดังนั้นการรับประทานผักจึงควรทำให้เป็นหน้าที่ เพราะสามารถช่วยบรรเทา และป้องกันโรคต่าง ๆ ได้นอกเหนือจากการได้รับสารอาหารตามปกติ อย่างในผักที่มีสีส้ม สีเหลือง อาทิ แครอท ฟักทอง จะมีสารที่สามารถละลายในน้ำมัน หรือแคโรทีนอยด์ ที่จะช่วยชะลอความแก่ และช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน เพราะมีสารต่อต้านอนุมูลอิสระ, ผีก ผลไม้สีแดง อย่างใน มะเขือเทศ แตงโม เก๋ากี้ ก็จะมีไลโคปีน ที่ช่วยป้องกันโรคมะเร็งได้, ผักผลไม้สีม่วงและสีน้ำเงิน ก็มีแอนโทไซยานีน ที่จะช่วยชะลอความเสื่อมของดวงตา ลดความเสี่ยงโรคหัวใจ และช่วยเรื่องเซลล์ความจำในสมอง, ผักผลไม้สีขาว หรือสีเหลืองอ่อน ก็มีแซนโทน ช่วยลดการอักเสบ และลดระดับน้ำตาลในเลือด ฯลฯ ซึ่งในแต่ละวันนอกจากผักและผลไม้ เราก็ควรเพิ่มการรับประทานธัญพืชที่ไม่ขัดสีให้ได้อย่างน้อยวันละ 3 ทัพพีด้วย เพื่อช่วยเพิ่มวิตามินบี 1, 2 และธาตุเหล็ก รวมทั้งกินถั่วเมล็ดแห้ง 1 ถ้วยครึ่งต่อสัปดาห์ เพื่อป้องกันโรคสมองเสื่อม และเสริมแคลเซียมให้กับร่างกาย โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ ที่ควรได้รับแคลเซียมถึง 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน ที่เราจะได้รับจากนม ผัก หรือถั่วเมล็ดแห้ง ที่มีแคลเซียมเสริมเข้าไปด้วยได้ ซึ่งเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กันเลยก็คือเรื่องของการรับประทานน้ำตาล ที่อาจก่อให้เกิดโทษต่อร่างกาย ซึ่งเราไม่ควรรับประทานเกิน 6 ช้อนชาต่อวัน: เพราะน้ำตาลจะก่อให้เกิดสารอนุมูลอิสระ ที่สร้างความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรังชนิดต่าง ๆ อย่างเช่น เบาหวาน ความดันโลหิต หลอดเลือดหัวใจ และไขมันในเลือดสูง ได้นั่นเอง



** สำหรับการรับประทานผักและผลไม้ เพื่อเพิ่มฟังก์ชันนอลเสริมในเด็ก ควรให้พวกเค้ารับประทานผักผลไม้ให้ได้วันละ 200-300 กรัม โดยเน้นผลไม้มากกว่า, ส่วนในผู้ใหญ่ ควรเน้นให้รับประทานผักมากกว่าผลไม้ และควรรับประทานแคลเซียมให้เพียงพอต่อความต้องการในแต่ละวันด้วยเช่นกัน **


โดยสามารถเข้าไปติดตามเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับ Functional Food ต่อได้ทาง Facebook: กินดี by แววตา รวมถึงติดตามกิจกรรมดี ๆ ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวของสุขภาพเแบบนี้ได้ทาง Facebook: SOOK (จากทาง สสส.)


กิจกรรม WorkShop: น้ำผักปั่นเพื่อสุขภาพ


////////////////////////////////////////////////////

บทความ: โดย บริษัท ออลไรท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด

Comments


All Right Corporation Co.,Ltd

678 /216 The Exclusive-Phatthanakan,

Soi Phatthanakan 44, Suan Luang, Bangkok 10250

Tel: 02-0037786 /064-4144222

Email: AllRightCorporation@gmail.com

Contact Us

  • FB AllRightCorp
  • Line AllRightCorp
  • Youtube AllRightCorp
bottom of page