top of page

โภชนบำบัด คุมโรคได้ด้วยอาหารการกิน


วิทยากร: คุณพศิษฐ์ คณาศิริชัยนนท์ นักกำหนดอาหารวิชาชีพ วิทยาการเครือข่ายคนไทยไร้พุง


กิจกรรม SOOK MARKET พามารู้จักกับ “โภชนบำบัด” ทั้งสำหรับผู้สุขภาพปกติ และผู้มีปัญหากลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) อาทิ โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดแดงแข็ง โรคความดันโลหิตสูง โรคไต และโรคอ้วน ที่จะช่วยส่งเสริมให้การรักษาโรคมีประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น


คุณพศิษฐ์ คณาศิริชัยนนท์ นักกำหนดอาหารวิชาชีพ อธิบายความแตกต่างระหว่างโภชนาการและโภชนบำบัดว่า “โภชนาการ” หมายถึง แนวทางการกินทั่วไปเพื่อให้มีสุขภาพดี ส่วน “โภชนบำบัด” หมายถึง การใช้อาหารและความรู้ที่เกี่ยวข้องกับสารอาหาร เพื่อวางแผนในการช่วยให้อาการเจ็บป่วยดีขึ้นหรือคงที่ โดยจะดัดแปลงปรับเปลี่ยนอาหาร เพื่อปรับพฤติกรรมการกินให้เหมาะสมกันกับโรคหรือความต้องการของร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไปขณะเจ็บป่วย


โภชนบำบัด หรือ การใช้อาหารบำบัดโรค ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายว่ามีส่วนช่วยให้การรักษาโรคได้ผลอย่างเต็มประสิทธิภาพ ร่วมไปกับการรักษาทางการแพทย์ เนื่องจากการรับประทานอาหารให้เหมาะสมกับตัวโรค จะช่วยให้ร่างกายปรับไปอยู่ในสภาวะปกติ หรือ ประคับประคองให้ความรุนแรงของโรคน้อยลงได้ ซึ่งในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) แต่ละโรคนั้นก็จะมีวิถีโภชนบำบัดที่แตกต่างกันไป ดังนี้


โรคเบาหวาน เป็นภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง ทำให้เซลล์ต่างๆ ทำงานได้น้อยลง รวมทั้งเกิดความผิดปกติในการเผาผลาญสารอาหาร จึงจำเป็นจะต้องควบคุมน้ำตาล แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ก็ยังสามารถทานน้ำตาลได้ โดยหลักโภชนบำบัดสำหรับผู้เป็นโรคเบาหวาน คือ ควรทานอาหารให้สมดุลทุกหมู่ แต่ไม่ควรได้รับน้ำตาลเกินวันละ 6 ช้อนชา ควรระวังการทานอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรต อย่าง ข้าว แป้ง ไม่ให้มากเกินไป รวมถึงทานอาหารที่มีส่วนประกอบของน้ำตาลให้เหมาะสม ไม่ควรปรุงน้ำตาลเพิ่มในอาหาร อีกทั้งยังต้องรู้จักอ่าน *ฉลากโภชนาการ และมองหา **ฉลากทางเลือกสุขภาพ และควรขยับตัวให้มากขึ้น เพราะการเดินเร็วและนานขึ้น จะช่วยให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงได้


โรคหลอดเลือดแดงแข็ง เป็นภาวะไขมันในเลือดสูง มีผลให้ไขมันไปเกาะตามผนังหลอดเลือด จนขาดความยืดหยุ่นและตีบตันได้ หลักการสำคัญไม่ได้อยู่ที่การรักษาหลอดเลือด แต่จะต้องควบคุมไม่ให้ไขมันในเลือดสูงต่างหาก ซึ่งโภชนบำบัดสำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดแดงแข็ง คือ ไม่ควรทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว ซึ่งพบได้ส่วนใหญ่จากอาหารทอด และไขมันของเนื้อสัตว์ อย่าง ไก่ หมู และวัว รวมไปถึงน้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว และน้ำมันหมู แต่ควรทานอาหารจำพวกถั่ว เต้าหู้ และปลาเป็นประจำ เพราะไขมันดีที่อยู่ในถั่วและเนื้อปลา เป็นไขมันชนิดไม่อิ่มตัวที่ช่วยลดไขมันในเลือดได้ สุดท้ายคือควรเลี่ยงอาหารประเภทเบเกอรี่และขนมอบ ส่วนอาหารทอดสามารถทานได้บ้าง แต่ไม่ควรทานเกิน 1 มื้อต่อวัน


โรคอ้วน เกิดจากร่างกายได้รับพลังงานมากเกินความต้องการ จึงเกิดการสะสมในรูปแบบของไขมัน จนอาจทำให้การทำงานของร่างกายผิดปกติ และเสี่ยงโรคแทรกซ้อนตามมา โดยเฉพาะโรคเบาหวานและโรคหลอดเลือดหัวใจ ฉะนั้นผู้ที่เป็นโรคอ้วนจึงควรเน้นสมดุลพลังงานและออกกำลังกายให้มากขึ้น รวมถึงควบคุมปริมาณการทานอาหารให้ได้สัดส่วนที่เหมาะสม โดยควรเน้นอาหารจานสุขภาพ เช่น ข้าวไม่ขัดสี เนื้อไม่ติดมัน และเน้นทานผักที่มีใยอาหารสูง หรือ จดจำง่ายๆ เป็นสูตร 2:1:1 ซึ่งก็คือ การกินข้าวในปริมาณเท่ากับเนื้อ และกินผักให้มากกว่าหรือเท่ากับข้าว


โรคความดันโลหิตสูง เกิดจากความดันหรือแรงกระทำที่ผนังเลือดสูงตลอดเวลา ซึ่งค่าปกติคือ ไม่เกิน 80/120 หากเกินกว่านี้จะต้องระวัง เพราะจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ เช่น เลือดไปเลี้ยงอวัยวะสำคัญไม่สะดวกและเส้นเลือดในสมองแตก โดยโภชนบำบัดสำหรับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง คือ ควรควบคุมการทานอาหารที่มีเกลือหรือโซเดียม เลี่ยงเนื้อสัตว์แปรรูปและอาหารแปรรูปต่างๆ และใช้หลักการทานอาหารง่ายๆ คือ “กินเนื้อเหลือน้ำ (น้ำแกง)” เพราะโซเดียมนั้นจะมีอยู่ในน้ำแกงเป็นจำนวนมาก การทานน้ำแกงน้อยลงจะช่วยให้ปริมาณโซเดียมที่ได้รับลดน้อยลงด้วย


โรคไต เป็นภาวะที่ไตไม่สามารถทำหน้าที่ได้ปกติ หลักสำคัญในการรักษาด้วยอาหารคือช่วยให้ไตทำงานน้อยลง เพื่อให้ไตได้มีโอกาสพักหรือฟื้นตัว และลดการคั่งของเสีย แต่สำหรับผู้ป่วยโรคไตนั้นไม่ใช่แค่จะต้องคุมโปรตีนให้ต่ำเท่านั้น แต่จะต้องระวังทั้งฟอสฟอรัส โซเดียม ไขมัน และโพแทสเซียมด้วย ดังนั้น โภชนบำบัดของผู้ป่วยเป็นโรคไตจึงไม่สามารถกำหนดรูปแบบเดียวกันได้ แต่จะต้องดูเป็นกรณีและรายบุคคลไปภายใต้การวินิจฉัยของแพทย์


สุดท้ายแล้ว “อาหาร” เป็นทั้งปัจจัยที่นำมาสู่โรคต่างๆ แต่ก็เป็นปัจจัยหลักสำคัญของการป้องกันโรคและรักษาโรคด้วยเช่นกัน ในมุมมองของโภชนบำบัด เราสามารถรับประทานทุกอย่างได้เป็นปกติ เพียงแต่จะต้องทานอย่างถูกหลักและสมดุลเท่านั้น ถึงจะทำให้มีสุขภาพดีหรืออยู่กับโรคต่างๆ ได้อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น


*ฉลากโภชนาการ คือ ข้อมูลในกรอบสี่เหลี่ยมที่มักแปะหรือพิมพ์เอาไว้ด้านข้างหรือด้านหลังของกล่อง/ขวด/บรรจุภัณฑ์อาหารที่วางขาย สังเกตง่ายๆ ว่าบนสุดของกรอบจะมีคำว่า “ข้อมูลโภชนาการ”

**ฉลากทางเลือกสุขภาพ คือ สัญลักษณ์โภชนาการอย่างง่ายสำหรับเป็นข้อมูลการตัดสินใจเลือกผลิตภัณฑ์อาหารของผู้บริโภคเพื่อลดการบริโภคน้ำตาล โซเดียมและไขมัน (ที่มา http://healthierlogo.com/ข้อมูลโครงการ/ความเป็นมา)



กิจกรรม WorkShop: แบบประเมินพฤติกรรมบริโภคอาหารหวาน มัน เค็ม (Eat test)


////////////////////////////////////////////////////

บทความ: โดย บริษัท ออลไรท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด

ดู 776 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page