top of page

เทคนิคการขายบนโลกออนไลน์ ที่หยุด CF ไม่ได้


วิทยากร:

  • คุณภาวรินทร์ รามัญวงศ์ กลุ่ม "มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการฝากร้าน” ซึ่งถือเป็นกลุ่มฝากร้านของมหาวิทยาลัยกลุ่มแรกของไทย

  • ผศ.บัญญพนต์ พูลสวัสดิ์ เจ้าของธุรกิจ Start Up ‘Daydev.com’


วันนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ธุรกิจออนไลน์กำลังติดกระแสลมบน แม้กระทั่งห้างสรรพสินค้าหรือแบรนด์สินค้าต่างก็หันมาใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น

เจาะลึกธุรกิจการขายสินค้าออนไลน์ เทรนพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปจากเดิม กับ รายการชนะวิกฤต พลิกโอกาส overcome crisis ตอนที่ 2 เทคนิคการขายบนโลกออนไลน์ ที่หยุด CF ไม่ได้ โดย คุณภาวรินทร์ รามัญวงศ์ กลุ่ม "มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการฝากร้าน” ซึ่งถือเป็นกลุ่มฝากร้านของมหาวิทยาลัยกลุ่มแรกของไทย และ ผศ.บัญญพนต์ พูลสวัสดิ์ เจ้าของธุรกิจ Start Up ‘Daydev.com’ และอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ สาขาการออกแบบเชิงโต้ตอบและการพัฒนาเกม ทาง FACEBOOK LIVE: NIA Academy


จากสถานการณ์ Log down ประเทศไทย ส่งผลให้หลายธุรกิจต้องปิดตัวลง หลายอาชีพต้องอยู่ในภาวะ “ตกงาน” ปรากฎการณ์ที่หลายอาชีพเริ่มปรับตัวด้วยโลกออนไลน์ นั่นคือ กระแสการ Live สด ฝากร้าน เพื่อขายสินค้าในหลายแพลตฟอร์ม รวมถึงตลาดที่น่าสนใจอย่าง ตลาดฝากร้านของกลุ่มมหาวิทยาลัยในช่องทาง Facebook


คุณภาวรินทร์ เจ้าของกลุ่ม “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการฝากร้าน” ซึ่งถือเป็นกลุ่มมหาวิทยาลัยฝากร้านแห่งแรกของไทย เล่าถึงที่มาของการตั้งกลุ่มว่า เนื่องจากเป็นหนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบ เพราะทำธุรกิจการท่องเที่ยว และงานอีเว้นท์ซึ่งต้องหยุดไปตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน สิ่งที่สังเกตเห็นในกลุ่มเพื่อนคือ หลายคนเริ่มออกมาขายของออนไลน์เพื่อหารายได้ ขณะเดียวกันก็มีเพื่อนที่โพสอยากกินอาหารเลยตั้งกลุ่มเพื่อให้เพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ ในธรรมศาสตร์รู้จักกัน อุดหนุนกันในกลุ่ม เงินจะได้หมุนเวียนในกลุ่มพี่น้องเรา และรู้สึกว่า Platform E-commerce ก็ไม่รู้จักว่าใครเป็นผู้ขาย แต่ถ้าเป็นกลุ่มพี่น้องอย่างน้อยความไว้ใจได้ จากวันแรกที่เชิญเพื่อนต่างคณะ ต่างสินค้า 30 คน จนภายใน 7 วัน มีเพื่อนถึงหลักแสน และปัจจุบันมีกว่า 180,000 คน สาเหตุที่มีคนเข้าร่วมอย่างก้าวกระโดด เพราะเป็นกระแสในช่วงที่คนว่างและคนมองเห็นโอกาสที่เป็นทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย ในช่วงแรกที่มีคนในกลุ่มประมาณหลักหมื่น มั่นใจว่ามีเม็ดเงินสะพัดถึงหลักแสนบาท เพราะคนซื้อก็เห็นตัวตนของผู้ขายที่ชัดเจน ขณะที่คนขายก็มั่นใจว่ามีคนเห็นถึงแสนกว่าคน


สินค้าขายดีบนโลกออนไลน์ เจ้าของกลุ่ม “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการฝากร้าน” มองว่าส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุปโภคบริโภค ส่วนเนื้อหาที่ได้รับความนิยมอยู่ที่ ความจริงใจของผู้ขาย มีการ Declare คุณภาพของสินค้าชัดเจน ไม่ค้ากำไรเกินจริง มีการระบุตัวตนที่ชัดเจน อย่างไรก็ตามมีสินค้าบางประเภทที่ไม่ต้องโพสเนื้อหามากแต่สามารถขายได้เพราะเป็นสินค้าที่จับประเด็นกับสถานการณ์ความต้องการของตลาดในขณะนั้นได้ เช่น ในช่วงที่คนว่างอยู่กับบ้าน หากมีการขายของ DIY ปลูกต้นไม้ด้วยตนเองซึ่งตรงประเด็นกับคนที่กำลังมองหาอยู่ก็จะได้รับความสนใจ ดังนั้นต้องดูผู้บริโภคว่าสถานการณ์ตอนนั้นต้องการอะไร มองให้ออกว่าลึก ๆ คนขาดอะไร สนองความต้องการเขา ก็จะขายได้ไว ซึ่งถือเป็นการวิเคราะห์ตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภค ณ สถานการณ์ปัจจุบัน


อย่างไรก็ตาม เมื่อหลายภาคธุรกิจต่างกระโดดเข้าสู่ออนไลน์ “การสร้างจุดต่าง” จึงเป็นเรื่องสำคัญ คุณภาวรินทร์ แนะนำว่า สิ่งที่เรียนรู้ในการทำกลุ่มธรรมศาสตร์และการฝากร้านคือ คนจะเลือกซื้อของในร้านที่เห็นว่าเขาเป็นใคร และความจริงใจในการทำธุรกิจ การยืนยันตัวตนที่ชัดเจน มีปฏิสัมพันธ์กับคนซื้อ ซึ่งกลุ่มฝากร้านจะต่างจาก Platform E-commerce ตรงที่เขาได้คุยกับคนขายโดยตรงที่รู้ว่าเป็นใครทำให้เกิดความน่าเชื่อถือและการซื้อขายกัน ส่วนแผนที่จะพัฒนาต่อจะพยายามมองหาช่องทางว่าอะไรบ้างที่เกิดขึ้นใหม่ที่สนับสนุนคนในกลุ่มและทำให้เกิดความยั่งยืน รวมถึงการทำ Business Matching หรืองานแฟร์ระหว่างมหาวิทยาลัย เช่นงานแฟร์จุฬา-ธรรมศาสตร์ เป็นต้น


“ทุกวันนี้สถานการณ์เปลี่ยนค่อนข้างไว ใครที่มองและสังเกตบรรยากาศที่เกิดขึ้นได้ก่อน แล้วปรับตัวได้ทันเป็นเรื่องที่สำคัญ เหมือนตัวแซนเอง ที่ผ่านมาไม่เคยมี Plan B พอเจอสถานการณ์แบบนี้รู้เลยว่าที่ผ่านมาใช้ชีวิตเสี่ยงมาตลอด ทำอย่างไรในเดือนข้างหน้าเราจะหาทางปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์ เป็นผู้รอดให้ได้ อย่ายอมแพ้ พยายามหาทางปรับตัว และไปต่อให้ได้” คุณภาวรินทร์ ทิ้งท้ายว่า

ตัวอย่างของการปรับตัวทางธุรกิจในต่างประเทศอย่างบริษัท Lin Qingxuan ร้านจำหน่ายเครื่องสำอางในจีน ที่มีกว่า 300 สาขา ในช่วงที่มีการล็อคดาว์นในจีนซึ่งตรงกับช่วงตรุษจีนพอดี ทำให้มียอดขายตกลงกว่า 40 % และบริษัทมีเงินสดเพื่อประคองธุรกิจเพียง 2 เดือน


การปรับตัวที่น่าสนใจของธุรกิจนี้คือ บริษัทแปลงพนักงานขายเครื่องสำอางหน้าร้านกว่า 100 คน ให้เป็น online InFluencer ในเว็บเถาเป่า (Taobao) ร้านค้าออนไลน์ขนาดใหญ่ในจีน มีคูปองส่วนลดผ่าน Live สด และคอยตอบคำถามใน WeChat ผลที่ออกมาคือ Live Stream ในวันวาเลนไทน์ มียอดขายน้ำมันดอกคามิเลีย สินค้าเด่นของบริษัทได้ถึง 4 แสนขวด และยอดขายในเมืองอู่ฮั่น สูงกว่าปีก่อนถึง 200%


อีกหนึ่งธุรกิจที่น่าจับตา จากเทรนด์พฤติกรรมของผู้บริโภคยุค New Normal โดยบริษัทไวซ์ไซท์ พบว่า ธุรกิจทางเทคโนโลยีเสมือนจริง AR VR นับเป็นตลาดที่กำลังมาแรงเพราะสร้างประสบการณ์ตรงให้กับผู้บริโภค


ผศ.บัญญพนต์ เจ้าของธุรกิจ Start Up ‘Daydev.com’ สะท้อนว่า คนส่วนใหญ่เริ่มรู้จักเทคโนโลยี AR VR ในเมื่อปี 2009 อย่างชาเชียวโออิชิ ที่ต้องใช้กล้องเว็บแคมแล้วจะเห็นภาพเคลื่อนไหวออกมา แต่ต้องใช้ผ่านกล้องเว็บแคมทำให้การเข้าถึงค่อนข้างน้อย แต่ตอนนี้ทุกคนมีมือถือทำให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น ความแตกต่างของ AR และ VR ขอยกตัวอย่างเกมโปเกมอนโกะ ที่ใช้มือถือส่องนั่นคือ AR ส่วน VR ต้องใช้อุปกรณ์อย่างแว่น ซึ่งธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะนิยมใช้ เมื่อดูผ่านกล้องจะเห็นตึกภาพเสมือนจริงได้ 360 องศา เหมือนเราว๊าปเข้าไป ในพื้นที่นั้น สำหรับธุรกิจที่ AR VR ได้ใช้ประโยชน์และได้รับความนิยมจะอยู่ในกลุ่ม Mar tech หรืองานอีเว้นท์เป็นส่วนใหญ่ที่ตอบโจทยฺเรื่องความหวือหวา การทำภาพยนตร์ 360 องศา เมื่อใส่กล้องแล้วเหมือนกับเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์นั้น รวมถึงธุรกิจ Health Care ที่หลายโรงพยาบาลเริ่มติดต่อให้มาทำสื่อการเรียนรู้อวัยวะภายใน เช่น สมอง หัวใจ เพื่อให้ดูในหลายมุมมอง และการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เช่น การจำลองสถาปัตยกรรมย้อนหลัง รวมถึงสื่อการสอน 3 มิติเพื่อกระตุ้นความสนใจของผู้เรียน


ตลาด AR VR ยังถูกนำมาใช้เรื่องการจำลองสถานการณ์ (Simulation) เพื่อสร้างการเรียนรู้ เช่นโรงงานไฟฟ้าให้ทำแผนจำลองการเรียนรู้ของพนักงานใหม่ ถ้าเกิดเหตุขัดข้องควรแก้ปัญหาด้วยวิธีใด เพราะถ้าพนักงานแก้ปัญหาผิดทำแผงการไฟฟ้าพังจะทำให้เกิดมูลค่าความเสียหายสูงมาก หรือการผ่าตัดอาจารย์ใหญ่ที่ไม่จำเป็นต้องผ่าอาจารย์ใหญ่ทุกรอบ แต่ใส่แว่น VR แล้วเห็นภาพไปพร้อมกัน


เทคโนโลยี AR VR ด้วยราคา 0 บาทถึงหลักล้านอะไรก็เป็นไปได้ขอเพียงมี Content

ผศ.บัญญพนต์ มองว่า ความแตกต่างอยู่ที่เนื้อหาการนำเสนอ เช่น การจำลองอุทยานซึ่งเป็นธุรกิจการท่องเที่ยว ค่าใช้จ่ายในการทำจึงสูงถึงหลักล้าน ซึ่งค่าใช้จ่ายที่ที่แพงอยู่ที่การสืบค้นข้อมูลกับผู้เชี่ยวชาญเพื่อขึ้นรูปสันนิษฐาน ขณะเดียวกันคุณก็สามารถทำ AR ได้ในราคา 0 บาท เช่น การขายข้าวเหนียวหมูปิ้งก็ล้ำด้วยเทคโนโลยีได้ เพียงออกแบบสติกเกอร์ให้ดี หาเว็บไซด์ในการ generate AR content ฟรี แล้วถ่ายวีดิโอเก็บไว้ในคราว จากนั้นให้โหลด QR Code เพื่อสแกนที่ห่อหมูปิ้ง คุณจะเห็นรีวิวจาก Influencer ดังนั้น No content No Business ถ้าคุณมีแค่ไอเดีย คุณไม่จำเป็นต้องกังวลเรื่องเงินทุน หากคุณนำเสนอดี สุดท้าย Business ก็จะมา”


สิ่งหนึ่งที่หลายคนต้องกลับมาเรียนรู้คือ ความสร้างสรรค์ เพราะช่วงหลังคนสามารถใช้เทคโนโลยีได้ แต่สิ่งที่ขาดคือความสร้างสรรค์ โดยเฉพาะการรับรู้ได้ของความเปลี่ยนแปลง หรือ sense intent นั่นคือ รับรู้ว่าสิ่งไหนจะมาและสิ่งไหนจะไปเพื่อปรับตัวให้ไว เช่น แบล็คเบอร์รี่ พวกเรารู้กันได้อย่างไรว่าถึงจุดหนึ่งต้องเปลี่ยนไปใช้อย่างอื่น เราไม่แลก PIN กันแล้ว หรือการขายของ ฝากร้านเป็นสิ่งที่รับรู้ได้ว่าพฤติกรรมนี้กำลังจะมา จากนั้นวางแผนเพื่อลงมือทำ เรียนรู้ และประเมินถึงสิ่งที่ทำ แล้วคุณจะชื่นชมกับมันเมื่อทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่วางไว้”

////////////////////////////////////////////////////

บทความ: โดย บริษัท ออลไรท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด

ดู 6 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page