top of page

สร้างความแข็งแกร่งทางธุรกิจด้วยสิทธิ์ทางทรัพย์สินทางปัญญา


วิทยากร: ดร.จักรกฤษณ์ควรพจน์ ที่ปรีกษาอาวุโส บริษัท ติลลิกีแอนด์กิบบินส์อินเตอร์เนชั่นแนล จํากัด


หากปลูกบ้านยังมีรั้วกั้น การประกอบธุรกิจก็ควรใช้การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property: IP) เป็นเครื่องมือช่วยปกป้องและเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับธุรกิจ ดังนั้นหากผู้ประกอบการกำลังขับเคลื่อนธุรกิจด้วยความคิดสร้างสรรค์ ใช้การออกแบบ การผลิตสินค้าใหม่ หรือนวัตกรรมเพื่อเติบโตมูลค่าทางธุรกิจ การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นเครื่องมือช่วยป้องกันและสร้างความเข้มแข็งให้กับสถานประกอบการให้สามารถแข่งขันในตลาดได้อย่างแข็งแรง ซึ่งการจะบังคับใช้หรือป้องกันทรัพย์สินทางปัญญาได้อย่างสมบูรณ์นั้น จำเป็นต้องเลือกการคุ้มครองหรือจดทะเบียนให้เหมาะสมกับรูปแบบธุรกิจ ซึ่งนับว่ามีรายละเอียดและต้นทุนในการดำเนินการพอสมควร

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์กรมหาชน) จึงได้จัดฝึกอบรมด้านทรัพย์สินทางปัญญาแบบออนไลน์ (IP Webinar) ครั้งที่ 1 ขึ้น เพื่อให้ความรู้และความเข้าใจแก่ผู้เข้าร่วม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในหัวข้อ “กลยุทธ์การคุ้มครองและบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา” ได้รับเกียรติจาก ดร. จักรกฤษณ์ ควรพจน์ ที่ปรึกษาอาวุโสของ บริษัท ติลลิกีแอนด์กิบบินส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด มาถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับประเภทของทรัพย์สินทางปัญญาเบื้องต้น ซึ่งประกอบด้วยเรื่องเครื่องหมายการค้า (Trademarks) ลิขสิทธิ์ (Copyright) สิทธิบัตร (Patents) และความลับทางการค้า (Trade Secrets) โดยแต่ละประเภทของทรัพย์สินทางปัญญามีรายละเอียดและมีเนื้อหาโดยสรุปดังนี้



เครื่องหมายการค้า (Trademarks) คือ เครื่องหมายหรือสัญลักษณ์หรือตราที่ใช้กับสินค้าหรือบริการ ยกตัวอย่างเช่น Nike, Adidas, Cola-Cola, Starbucks เป็นต้น จะเห็นได้ว่าเครื่องหมายการค้าที่ยกตัวอย่างมานี้มีมูลค่าทางการตลาด เป็นอย่างมาก เนื่องจากชื่อเสียงและความนิยมในตัวสินค้าผ่านตราสินค้า กว่าจะได้มาต้องแลกด้วยเวลาและ การลงทุนสูง เพื่อสร้างให้ลูกค้าหรือผู้บริโภคจดจำและใช้เปรียบเทียบก่อนตัดสินใจซื้อ ซึ่งเครื่องหมายการค้าอาจถูกฉกฉวยทำให้เกิดความสับสน สร้างความไม่เป็นธรรมแก่ผู้บริโภคและเจ้าของสิทธิ์ได้ ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงควรจดทะเบียนเพื่อขอรับคุ้มครองเครื่องหมายการค้า ซึ่งมีขั้นตอนไม่ยุ่งยาก ใช้เวลาน้อย ค่าใช้จ่ายไม่สูงมาก สำหรับอายุความคุ้มครองคือ 10 ปี นับตั้งแต่วันจดทะเบียน และต่ออายุได้อีกคราวละ 10 ปี โดยหากต่ออายุจะมีค่าธรรมเนียม พร้อมทั้งการบังคับใช้เครื่องหมายการค้าจะกระทำได้เฉพาะภายในประเทศที่จดทะเบียนเท่านั้น


ลิขสิทธิ์ (Copyright) คือการคุ้มครองสิทธิทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกับ การแต่งเพลง ดนตรี ภาพยนต์ วรรณกรรม งานศิลปะ รวมถึงซอฟต์แวร์ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีดิจิทัลบางประเภท ในทางกฎหมายสิทธิดังกล่าวเกิดขึ้นได้อัตโนมัติ ใครเป็นผู้ค้นคิดได้ สิทธิทางปัญญาจะเป็นของผู้นั้นโดยไม่ต้องจดทะเบียนต่อหน่วยงานของรัฐ อย่างไรก็ดีผู้คิดค้นต้องเก็บหลักฐานเพื่อใช้ในการพิสูจน์ความเป็นเจ้าของ ซึ่งมีหน่วยงานคอยให้บริการบันทึกข้อความ วันเวลาในการสร้างสรรค์ผลงาน สำหรับอายุความคุ้มครองของลิขสิทธิ์จะมีอยู่ตลอดอายุของผู้สร้างสรรค์ และจะคุ้มครองต่อไปอีก 50 ปี นับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย หลังจากนั้นผู้อื่นมีสิทธิ์นำผลงานไปสร้างมูลค่าต่อได้


สิทธิบัตร (Patents) คือ หนังสือสำคัญที่ออกให้โดยหน่วยงานของรัฐซึ่งให้เจ้าของมีสิทธิผูกขาดแต่เพียงผู้เดียว ในการหาประโยชน์ในช่วงระยะเวลาจำกัดในอาณาเขตที่ให้ไว้ สิทธิทางปัญญานี้ยังได้รวมถึงสิทธิในการผลิต โอน ขาย หรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้สิทธิได้โดยการอนุญาตให้ใช้สิทธิ (licensing) สามารถแบ่งประเภทของสิทธิบัตรออกเป็น 2 ประเภท คือสิทธิบัตรการประดิษฐ์ (Invention) และสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ (Product Design) ทั้งนี้ สิ่งประดิษฐ์ (Invention) ที่ไม่ใช่แค่เพียงการค้นพบสิ่งที่มีอยู่แล้วแต่เป็นการคิดค้นสิ่งใหม่ขึ้น ซึ่งไม่เคยถูกใช้หรือเผยแพร่มาก่อน มีขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น ไม่ใช่แค่ไอเดียทั่วไป (Simple Ideas) และสามารถนำไปใช้ในทางอุตสาหกรรมได้ ซึ่งถือว่าเป็นความท้าทายของผู้ประกอบการที่จะต้องสร้างเทคโนโลยีและนำไปพิสูจน์กับผู้เชี่ยวชาญให้ได้ สำหรับการออกแบบผลิตภัณฑ์ (Design) คือ การออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ พิจารณาจากรูปร่างและรูปทรง (Configurations) และ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ใหม่ พิจารณาจากลวดลายองค์ประกอบสี (Patterns) ทรัพย์สินทางปัญญาประเภทสิทธิบัตรถือว่าเป็นสิทธิทางปัญญาที่ทรงพลังที่สุด เนื่องจากเป็นสิทธิ์ผูกขาด ไม่ว่าจะเป็นการผลิต การใช้ การขาย เสนอขาย ให้เช่า หรือแม้กระทั่งทำลายทิ้ง สามารถใช้สิทธิ์คุ้มครองนี้เพื่อยุติการดำเนินการต่างๆ แก่ผู้ที่นำทรัพย์สินทางปัญญาไปใช้ได้ เช่น ให้ยุติการผลิต เรียกค่าเสียหาย ดำเนินคดีตามกฎหมายอาญา ทั้งนี้สิ่งสำคัญก่อนจดสิทธิบัตรคือ ผู้ประกอบการต้องแน่ใจว่าทรัพย์สินทางปัญญาเหล่านี้ไม่ได้ถูกเปิดเผยมาก่อน จำเป็นต้องใช้เทคนิคในการร่างคำขอ ใช้ประสบการณ์ในการเขียน หรือต้องหาผู้เชี่ยวชาญมาช่วยดำเนินการ


น์ในทางการค้าและมีมูลค่าต่อสถานประกอบการนั้น ๆ เช่น สูตรอาหาร สูตรเคมีภัณฑ์ เทคนิคการผลิตที่ช่วยลดต้นทุน วิธีการทำให้สินค้ามีคุณภาพมากยิ่งขึ้น เป็นต้น ความลับทางการค้าไม่ต้องมีการจดทะเบียนต่อหน่วยงานของรัฐ ไม่มีเวลาหมดอายุ อย่างไรก็ดีก็ต้องมีความจำเป็นสำหรับกระบวนในการเก็บรักษาและป้องกันไม่ให้ข้อมูลรั่วไหล


ส่วนใหญ่สาเหตุที่ทำให้เกิดข้อพิพาทเรื่องความลับทางการค้าเกิดจากคนในองค์กรนำเอาความลับไปเผยแพร่หรือใช้ประโยชน์ ดังนั้นสิ่งที่จะป้องกันได้คือ ผู้ประกอบการควรให้พนักงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อมูลดังกล่าว เซ็นต์ข้อตกลงว่าจะเก็บข้อมูลเป็นความลับ (Confidentiality Agreements) เพราะหากเกิดคดีความขึ้นมา ผู้ประกอบการเองจะต้องปกป้องสิทธิทางปัญญาและเป็นฝ่ายพิสูจน์ความจริงด้วยข้อตกลงดังกล่าว


ถึงแม้การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property: IP) จะมีความสำคัญต่อผู้ประกอบการในการขับเคลื่อนธุรกิจ สิ่งสำคัญที่ไม่อาจลืมได้เลยคือการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการให้มีคุณภาพ สร้างประสบการณ์ที่ดีแก่ผู้บริโภค จนเกิดการใช้ซ้ำและบอกต่อ จนเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมในท้องตลาด (Reputation & Goodwill) และใช้การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาเป็นเครื่องมือ (Tools) ในการป้องกันและบังคับใช้สิทธิ์ตามกฎหมายได้อย่างชอบธรรม เพื่อให้ธุรกิจที่เราลงทุนลงแรงสร้างขึ้นนั้นมีศักยภาพต่อการดำเนินงานและเติบโตอยู่ในแนวหน้าของตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งทางสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์กรมหาชน) (สนช.) เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ส่งเสริมและกระตุ้นให้ผู้ประกอบการตระหนักถึงความสำคัญของทรัพย์สินทางปัญญา เนื่องจากทรัพย์สินทางปัญญาเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานของการสร้างนวัตกรรม ส่งผลต่อการสร้างความแข็งแรงให้กับธุรกิจและช่วยกัน ยกระดับประเทศชาติไปด้วยกัน


ติดตามข่าวสารและลงทะเบียนเข้าร่วมงานได้ที่เฟซบุ๊กของ NIA https://www.facebook.com/NIAThailand


////////////////////////////////////////////////////

บทความ: โดย บริษัท ออลไรท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด

ดู 6 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page