top of page

ธุรกิจอาหาร กับโอกาสใหม่ในช่วงโควิด-19


วิทยากร:

  • คุณธิติวุฒ อุดมชัยพร Business Development Manager บริษัท วงใน มีเดีย จำกัด

  • คุณศานนท์ หวังสร้างบุญ Co-Founder of Locall.Thailand & RISE CAFe (เครือข่าย Satarana)


ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่หลายภาคธุรกิจได้รับผลกระทบ ไม่เว้นแม้กระทั่งธุรกิจร้านอาหารโดยเฉพาะร้านที่เน้นขายบรรยากาศนั่งทานในร้าน แม้วันนี้จะเปิดให้บริการนั่งทานในร้านได้แล้ว แต่ยังคงต้องรักษาระยะห่างทางกายภาพ ซึ่งนั่นก็เป็นการจำกัดจำนวนผู้เข้าใช้บริการเช่นกัน

ขณะเดียวกันตลาดขาขึ้นอย่างธุรกิจอาหารเดลิเวอรี่ กลายเป็นธุรกิจเฟื่องฟูซึ่งมีการคาดการณ์ว่าจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นถึง 1.2 พันล้านบาทในระยะเวลาเพียง 1 เดือน


จากข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกร พบว่า อาหารเดลิเวอรี่แม้จะมีผู้ประกอบการร้านอาหารบางรายให้บริการดังกล่าวมาระยะหนึ่งแล้ว แต่เมื่อมีพรก.ฉุกเฉิน และมาตรการขอความร่วมมือปิดสถานประกอบการ การปรับตัวของผู้ประกอบการโดยเพิ่มบริการจัดส่งอาหารไปยังที่พัก หรือเข้าร่วมกับแอปพลิเคชันสั่งอาหาร การเร่งทำการตลาดของผู้ประกอบการ รวมถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค อาจจะส่งผลให้มูลค่าตลาดของธุรกิจอาหารเดลิเวอรี่เพิ่มขึ้นประมาณ 1.2 พันล้านบาท ในช่วงเวลาเพียง 1 เดือน และคาดว่าหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลงการให้บริการจัดส่งอาหารถึงที่พักก็จะกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ของธุรกิจร้านอาหาร และอาจเป็นช่องทางสร้างรายได้ของผู้ประกอบการ ผ่านการเข้าร่วมกับ Food Delivery Application


รายการชนะวิกฤต พลิกโอกาส overcome crisis ตอนที่ 4 “ธุรกิจอาหาร กับโอกาสใหม่ในช่วงโควิด-19”โดยคุณธิติวุฒ อุดมชัยพร Business Development Manager บริษัท วงใน มีเดีย จำกัด และคุณศานนท์ หวังสร้างบุญ Co-Founder of Locall.Thailand & RISE CAFe (เครือข่าย Satarana) ทาง FACEBOOK LIVE : NIA Academy เพื่อเจาะลึกธุรกิจร้านอาหารมีการปรับตัวกันอย่างไรในยุค New Normal


เริ่มด้วยการไขความลับของธุรกิจอาหารกับวงในคุณธิติวุฒ เล่าว่า ในช่วงแรกของการปิดห้าง หลายร้านเริ่มหันมาทำเดลิเวอรี่มากขึ้น จากฐานข้อมูลร้านอาหารในประเทศไทย 320,000 ร้าน เชื่อว่าส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบเกือบหมด ซึ่งกระทบไปถึงธุรกิจส่งสินค้าที่เกี่ยวข้องกับร้านอาหาร หากแบ่งประเภทของร้านอาหารจะพบว่า ร้านอาหารระดับหัวแถวหรือ Fine Dining ได้รับผลกระทบโดยตรงเพราะขายบรรยากาศที่เข้าไปกินในร้าน รองลงมาคือร้านอาหารที่มีสาขาต่างๆ ตามห้าง หรือ chain restaurant ก็มีการปรับตัวเร็วโดยหันมาทำเดลิเวอรี่มากขึ้น ซึ่งห้างก็มีการสนับสนุนให้มีจุดรับสินค้า ส่วนร้านใน Street food ที่ทำเดลิเวอรี่ก็มีทางออกของอาหาร แต่ร้านที่ไม่ทำเดลิเวอรี่ก็ถือว่าหนักพอสมควร ซึ่งวงในก็มีการช่วยเหลือร้านให้มาสมัครเดลิเวอรี่ได้ รวมถึงร้านที่ไม่มีหน้าร้านก็มีการช่วยเหลือให้สามารถโปรโมทผ่านวงในและ Line manได้ เพื่อให้ลูกค้ามีทางเลือกในการสั่งมากขึ้น


“ในช่วงโควิด-19 ระบาดใหม่ ๆ วงในมีการปรับตัวโดยปรับให้หลายธุรกิจมาช่วยฝั่งเดลิเวอรี่ เพราะเมื่อก่อนเดลิเวอรี่เป็นทางเลือก แต่ในช่วงโควิดกลายเป็นทางรอดของธุรกิจอาหาร จึงมีการสนับสนุนพื้นที่สื่อออนไลน์ทั้งโปรโมทร้านค้าผ่านทุกช่องทางออนไลน์ 350 ร้านต่อสัปดาห์ มีการลงพื้นที่ถ่ายทำเพื่อโปรโมทร้านตั้งแต่ระดับบนจนถึงสตีทฟู้ดส์ และมีการย่นระยะเวลาร้านค้าในการสมัครเดลิเวอรี่บนออนไลน์ จากเดิมใช้เวลา 7 วัน เหลือเพียง 1 วัน เพราะเชื่อว่าหากร้านสามารถขายได้ในช่วงวิกฤตจะมีกระแสเงินช่วยหล่อเลี้ยงร้านได้ ทำให้ในช่วงนี้มีการเติบโตของร้านอาหารเดลิเวอรี่เพิ่มขึ้นถึง 200%”

นอกจากนี้แอปพลิเคชันยังมีบริการ pick up เพื่อรับสินค้าที่ร้านโดยการสั่งล่วงหน้าเพื่อลดการรอคิว รวมถึงแคมเปญสู้ไปด้วยกัน เพราะสิ่งที่ร้านต้องเจอคือปัญหากระแสเงินสด จึงให้ร้านมาขาย Gift Voucher เพราะเรารอได้ แต่ร้านค้าที่ดีรอไม่ได้ เพื่อให้ร้านยังพอมีกระแสเงินสดไปหล่อเลี้ยงร้าน รวมถึงบริการ self-Delivery โดยให้ร้านเป็นผู้จัดการเรื่องการส่งอาหารเองเพื่อลดต้นทุนของร้าน เช่น ให้เด็กเสิร์ฟเป็นคนส่งสินค้าเอง หรือบางร้านใช้วินไปส่ง โดยไม่ต้องผ่านคนขับของ line man


พฤติกรรมของผู้บริโภคที่น่าสนใจ คุณธิติวุฒ เล่าว่า ก่อนหน้าโควิดเดลิเวอรี่มียอดการสั่งที่ค่อนข้างดี แต่ช่วงโควิด ยอดการสั่งเพิ่มขึ้น 3-4 เท่า และต่อหนึ่งบิลยอดการสั่งก็มากขึ้น จาก 200-300 บาท เป็น 400-500 บาท และกลุ่มอายุของจากเดิมเป็นกลุ่มคนทำงานและวัยรุ่นก็เพิ่มขึ้นเป็นกลุ่มพ่อแม่ ผู้สูงอายุ ส่วนอาหารที่ได้รับความนิยมในช่วงโควิดเป็นร้านอาหารที่มีสาขาต่างๆ ตามห้าง เพราะหลายคนคิดถึงบรรยากาศในช่วงห้างปิด ส่วนบุฟเฟ่ในช่วงแรกยังช็อคกับสถานการณ์ แต่พอผ่านไป 2 สัปดาห์เริ่มมีการตลาด ซื้อชาบูแถมหม้อเพื่อระบายของและเพื่อมีกระแสเงินสดในร้าน และหลังจากมีมาตรการผ่อนคลาย เริ่มมีแคมเปญ back to life เพื่อให้ร้านจัดเซ็ทอาหาร บริการความงาม ที่พัก รวมถึงบริการนวด การรับสินค้าโดยสั่งไว้ล่วงหน้า รวมถึงการตลาดส่งฟรี 3 กิโลเมตรแรกเพื่อให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อมากขึ้น


“ช่วงโควิดที่คนออกนอกบ้านไม่ได้ นวัตกรรมมีส่วนช่วยชีวิตทั้งคนที่ออกนอกบ้านไม่ได้และร้านอาหารได้เยอะมากผ่านแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่และโซเซียล ดังนั้นร้านอาหารต้องขยันใช้สื่อที่มี เพราะของฟรีในแพลตฟอร์มมีเยอะ ต้องขยันลงไปเล่น ใช้ให้เป็น ใช้ให้ถูก”

คนจะเปิดร้านอาหารไม่ใช่แค่ทำอาหารเก่งแล้วจะอยู่รอด ต้องศึกษาตลาด และรู้ว่าอะไรคือจุดขายของเรา ภาพและสื่อสำคัญ คำอธิบายที่มีเรื่องราว ดังนั้นต้องขยันทำการบ้านเยอะ ๆ ทั้งรูปและเนื้อหา เทคนิคการสร้างแบรนด์ รูปและเนื้อหา การสร้างความแตกต่าง อาจดูว่าตรงนั้นขาดอะไรในย่านนั้น แล้วกลับมาถามความถนัดของตัวเองว่ารู้จริงในของที่จะขายเพียงใด เพราะถ้ารู้จริงจะอยู่รอด


Start up ร้านอาหารจะรุ่งหรือร่วงสิ่งสำคัญที่ธุรกิจร้านอาหารควรมีคือ flexibility การปรับตัวเร็ว เปลี่ยนแปลงให้ทันต่อสถานการณ์ ธุรกิจร้านอาหารเปลี่ยนแปลงไวมาก เทรนด์คนเปลี่ยนแทบทุก 6 เดือน ร้านจึงต้องปรับตัว หลายร้านขายดีมากในช่วงเวลาช่วงเดียว แต่หลังจากนั้นไม่ปรับตัวกลายเป็นคนเงียบ ดังนั้นปรับตัวให้เร็ว คิดให้เร็ว ทำให้เร็ว และวิกฤตรอบนี้ เราไม่รู้ว่าอะไรจะมีผลกระทบที่เกิดขึ้นในอนาคตอีกบ้าง”

สำหรับด้าน STARTUP อย่าง Locall ก็มาร่วมแชร์ถึงผลกระทบนำไปสู่การปรับเปลี่ยนธุรกิจผ่าน CO-Founder ของ RISE CAFe and LOCALL โดยคุณศานนท์ เล่าว่า จุดเริ่มต้นมาจากธุรกิจเพื่อสังคมรูปแบบธุรกิจโฮสเทลย่านประตูผี พร้อมกับมีร้านคาเฟ่ที่ชื่อ RISE CAFe เพื่อกระจายรายได้ลงสู่ชุมชน แต่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ธุรกิจโรงแรมต้องปิดให้บริการลง RISE CAFe เมื่อก่อนทำอาหารขายเฉพาะในธุรกิจโรงแรมจึงต้องปรับตัวมาเป็นเดลิเวอรี่ โดยนำเสนอลูกค้าให้รู้สึกเหมือนมาโรงแรมผ่านเมนูที่หลากหลาย และในช่วงโควิดเราได้เห็นหลายร้านในระแวกนั้นก็ได้รับผลกระทบไปด้วย หลายร้านเป็นร้านเก่าแก่และไม่เคยเข้าสู่แพลตฟอร์มเดลิเวอรี่ จึงเป็นที่มาของการรวบรวมเพื่อนธุรกิจในระแวกนั้นเพื่อช่วยโปรโมทหรือเข้าสู่เดลิเวอรี่ให้ได้ โดยอาสาเป็นผู้เดินรวมอาหารหลายเจ้าไปด้วยกัน และส่งไปให้ที่บ้าน จึงเป็นที่มาของ Locall.bkk โดยเริ่มที่ line เพื่อโปรโมทว่าเรามีร้านอะไรบ้างหลายๆ ร้าน ที่สามารถไปส่งได้ และเราจะรวมการสั่งไปส่งที่บ้าน


รูปแบบการขายมีทั้งการผูกปิ่นโต หรือใช้บรรจุภัณฑ์จากธรรมชาติ เพื่อลดขยะพลาสติกจากการสั่งอาหารเดลิเวอรี่ซึ่งมีผลการตอบรับที่ดี แม้ว่าคนจะเป็นห่วงเรื่องความสะอาดเป็นเรื่องใหญ่มากและยังไม่มีร้านที่ทำเรื่องนี้จึงอาสาและมีคนผูกปิ่นโตในทุกสัปดาห์ โดยมีการผันพนักงานในโรงแรมเป็นคนส่งอาหาร ซึ่งในช่วงมาตรการผ่อนคลายแม้ว่ายอดสั่งปิ่นโตจะลดลงเพราะคนอยากออกจากบ้าน จึงมีทั้งเปิดให้คนมานั่งในร้านและเดลิเวอรี่


นวัตกรรมทางธุรกิจเพื่อสังคมผ่านรูปแบบการจัดการของ Locall เราอยากรอดและพาชุมชนรอดไปด้วยกัน โดยมี hub ในการจัดการตามย่านต่าง ๆ ที่มาจากตัวแทนของคนที่เติบโตในย่านนั้น ๆ เช่น ในเยาวราช คนที่รับออเดอร์ก็จะสั่งอาหารจากร้านที่ดีจริงในย่านนั้น ผมมองว่าเป็นเครื่องมือของการกระจายรายได้ในย่านนั้นและสร้างความสัมพันธ์ในย่านที่ดี ซึ่งหลังจากสถานการณ์โควิดเริ่มผ่อนคลายลงเครื่องมือนี้ก็ยังไปต่อ ปัจจุบันมี 12 ย่าน ใน 3 จังหวัด


“การปรับตัวของร้านอาหารโดยใช้นวัตกรรมมันไม่ใช่ทางเลือกแต่เป็นทางรอด เพราะอาจจะมีคนที่ปรับตัวได้เก่งและเข้าถึงเทคโนโลยี ซึ่ง Locall มองว่ายังมีช่องว่างที่คนในสังคมบางกลุ่มเข้าไม่ถึง ผมคิดว่าเป็นหน้าที่ที่ให้คนเข้าถึงได้ช่วยกัน นวัตกรรมควรเป็นโครงสร้างพื้นฐานมากกว่าเป็นพรีเมี่ยมให้คนได้เข้าถึง Locall ก็เป็นตัวช่วยอีกรูปแบบหนึ่ง การทำ Start up วันนี้จึงควรคิดเรื่องความร่วมมือกับคนอื่น เพื่อให้เรามี Value proposition หรือคุณค่าที่จะส่งมอบให้กับลูกค้า หลักการที่จะทำให้ธุรกิจรุ่งคือ trust และความร่วมมือกัน เราคิดแข่งเพียงอย่างเดียวไม่ได้แล้วต้องไปด้วยกันให้ได้”

////////////////////////////////////////////////////

บทความ: โดย บริษัท ออลไรท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด



ดู 5 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page