top of page

คิดไว เริ่มไว มีชัยไปกว่าครึ่ง กับสถานการณ์ธุรกิจ และ NEW NORMAL


วิทยากร:

  • ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

  • คุณพุทธศักดิ์ ตันติสุทธิเวท ผู้จัดการแผนกวิเคราะห์ข้อมูล บริษัทไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด


สถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อวิถีการใช้ชีวิตของคนทั่วโลก ในหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยต้องใช้วิธีรณรงค์ให้ประชาชนอยู่บ้านเพื่อหยุดเชื้อ รวมถึงการปิดให้บริการในบางธุรกิจ ซึ่งแน่นอนย่อมส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจไม่น้อย

แม้วันนี้จะเริ่มมีมาตรการผ่อนคลาย เปิดให้บริการทางธุรกิจกันบ้างแล้ว แต่สิ่งที่หลายคนให้ความสนใจนั่นก็คือ คำที่เรียกว่า New Normal หรือ ฐานวิถีชีวิตใหม่ของผู้บริโภคจะมีพฤติกรรมอะไรที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป


‘ชนะวิกฤต พลิกโอกาส’ Overcome Crisis รายการที่จะพาคุณชนะวิกฤตด้วยโอกาส ในมุมมองของนวัตกรรม ผ่านทาง Facebook live NIA Academy กับตอนที่ 1 คิดไว เริ่มไว มีชัยไปกว่าครึ่ง โดยมีวิทยากรที่มาร่วมแลกเปลี่ยนคือ ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคุณพุทธศักดิ์ ตันติสุทธิเวท ผู้จัดการแผนกวิเคราะห์ข้อมูล บริษัทไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด

พฤติกรรมที่น่าสนใจในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่เปลี่ยนวิถีชีวิตของคนในสังคมให้ต่างไปจากเดิม คุณพุทธศักดิ์ ให้ข้อมูลถึงการจับกระแสพฤติกรรมของคนในโลกออนไลน์ระหว่าง มี.ค.-พ.ค. ที่มีการ ล็อคดาว์นว่าถือเป็นช่วงที่วิถีชีวิตเปลี่ยนไปค่อนข้างมาก โดยพบพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปคือ “Eating-Living-Social” เริ่มจาก Eating พฤติกรรมการกินที่มีทั้งการทำอาหารที่บ้านและการสั่งอาหารออนไลน์ที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว Living พฤติกรรมการใช้ชีวิต พบประเด็นการทำงานที่บ้าน หรือ work from home รวมถึง Fit at home ที่คนออกไปสวนสาธารณะไม่ได้ จึงเกิดคอร์สออกกำลังกายออนไลน์ และ Social ที่เกิดอารมณ์เบื่อ เศร้า เหงา เซ็งกับการอยู่ที่บ้าน tiktok จึงเติบโตขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือเอ็นเตอร์เทรน


10 สิ่งที่คน Work from home พูดถึงมากที่สุดบนโซเซียล

  1. อินเทอร์เน็ต เพราะเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการทำงานที่บ้าน

  2. สุขภาพและการออกกำลังกาย โดยส่วนใหญ่พูดถึงการดูแลสุขภาพทั้งในแง่โควิด การทำงาน และการออกกำลังกายที่บ้านเพื่อดูแลตนเอง

  3. เบื่อ เหงา เศร้า เซ็ง เหนื่อย คืออารมณ์ร่วมของพวกเรา ทำให้เกิดกิจกรรมสนุกๆ บนโซเซียลมีเดียจาก Tik Tok

  4. เดลิเวอรี่ ทั้งการสั่งอาหารของผู้บริโภคและการโปรโมทของร้านอาหารต่าง ๆ ที่แทบทุกร้านมีบริการส่งเดลิเวอรี่ในช่วงเวลานี้

  5. อุปกรณ์สำหรับทำงานที่บ้าน สิ่งที่พูดถึงมากที่สุดคือ เก้าอี้และโต๊ะทำงาน

  6. อาการปวดเมื่อยและออฟฟิศซินโดรม พร้อมกับถามหาบริการนวดและร้านสปาที่ปิดตัวลง

  7. Shopping Online คืองานของเรา Lazada และ Shopee ถูกพูดถึงจำนวนมากในช่วงเวลาที่ผ่านมา รวมถึงร้านค้าต่าง ๆ ที่เคยเป็นห้างสรรพสินค้าก็ปรับตัวมาขายออนไลน์เพิ่มขึ้น

  8. การดูรีวิวบน YouTube โดยเฉพาะการรีวิวอุปกรณ์หรือสื่อเพื่อความบันเทิง เช่น Netflix รีวิวของเล่น หนัง เกม

  9. อยู่ดี ๆ ทุกคนก็กลายเป็นเชฟ โดยเฉพาะเนื้อหาการสอนทำอาหาร บอกสูตรทำอาหารที่บ้านแบบง่าย ๆ

  10. เพราะความอดทำให้เราหิวโหย โดยคำว่า “อยากกิน” มีข้อความสูงขึ้น 2 เท่า ซึ่งหมูกระทะและชาบู มีการพูดถึงมากเป็นพิเศษ


“พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปคือ อะไรก็ได้ที่ทำให้ชีวิตมีความสุขมากขึ้นเมื่อต้องอยู่คนเดียว และขณะเดียวกันก็มีวิธีการเข้าสังคมแบบใหม่ที่เป็นนวัตกรรม เช่น การประชุมผ่าน Zoom ซึ่งมียอดดาวโหลดแอปพลิเคชั่นสูงมาก การปรับตัวในภาคธุรกิจต้องตามสิ่งเหล่านี้ให้ทัน เพราะเราไม่รู้ว่าการเปลี่ยนแปลงต่อไปจะเกิดอะไรขึ้น เช่น การพาตัวเองเข้าสู่ Platform online อย่างร้านหมูกะทะ ชาบู หมูกะทะ ที่เขาขายประสบการณ์การกินด้วยกัน ก็ปรับด้วยการกินด้วยกันที่บ้านแถมหม้อชาบู หรือเราไม่รู้ว่าสถานการณ์จะกลับมาเกิดระบาดอีกระลอกหรือไม่ที่ส่งผลให้ผู้บริโภคโหยหาอาหารที่คลีนมากขึ้นเพื่อความปลอดภัย จากเดิมที่ลดใช้พลาสติกเพื่อสิ่งแวดล้อม แต่ตอนนี้ต้องกลับมาใช้อีกครั้งเพื่ออนามัย ดังนั้นการให้คุณค่าของผู้บริโภคจะเปลี่ยนไป ภาคธุรกิจจึงต้องตามเทรนเหล่านี้ให้ทันเป็นสิ่งที่จำเป็น”

เทรนด์ทางธุรกิจที่น่าจับตามองคุณพุทธศักดิ์ มองว่า สุขภาพจะกลายเป็นธุจกิจที่น่าจับตา เพราะคนใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ตามด้วยระบบการเงิน อย่าง online banking เพื่อลดการสัมผัส หรือการกู้เงินจ่ายเงินของพรีเมียร์ที่คนยอมจ่ายเพิ่มขึ้นเพื่อรับความปลอดภัยมากขึ้น รวมถึง VR AR เพื่อสร้างประสบการณ์ตรงในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในการขายบ้านบนออนไลน์


สิ่งที่Start up ควรทำเพื่อสร้างความแตกต่างทางธุรกิจคือ

  1. เก็บข้อมูลผู้บริโภคให้ดี ทั้งข้อมูลภายในเช่น ช้อปอย่างไร นานไหม และเก็บข้อมูลจากภายนอกทั้งพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป

  2. การสร้างประสบการณ์ตรงที่ดีให้กับผู้บริโภค หรือ user experience

  3. พยายามเข้าใจผู้บริโภคให้ชัดในแต่ละ segment เพราะเราไม่รู้ว่าเราจะเจออะไรในอนาคต ดังนั้นต้องฟังลูกค้าให้เยอะ ฟังเขาให้เข้าใจ empathize เขาให้มาก เข้าไปนั่งในใจเขา เพื่อที่จะปรับตัวให้ไว”


เช่นเดียวกับ ดร.เกียรติอนันต์ ที่มองโลกหลังโควิด-19 ที่จะเป็นตัวเร่งการเปลี่ยนแปลงของโลกให้หมุนเร็วยิ่งขึ้น “โควิด เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาสิ่งที่มีอยู่แล้วให้เร็วขึ้น การก้าวไปสู่โลกใหม่ มี 6 ขั้นตอนคือ 1.Digitized สังคมเห็นความสำคัญของดิจิตอล 2.Deceptive ซึ่งหลายคนมักตกหลุมพลางว่า ดิจิตอลมาแล้ว แต่ไม่ต้องรีบ ไม่ตระหนักว่าระดับของการเปลี่ยนแปลงจะไปลึก 3.Disruptive เมื่อดิจิตอลไปเร็วทำให้ปรับเปลี่ยนไม่ทันกับเทคโนโลยี 4.Demonetized โลกที่เงินสดจะเป็นเงินดิจิตอล ธุรกิจจะหมุนเร็วเช่นเดียวกับความต้องการ 5.Dematerialized เทคโนโลยีทำให้ไม่มีความสำคัญทางกายภาพ เช่น การสร้างบ้าน หรือโรงงานที่ใช้ VR เพื่อให้เห็นภาพและการจำลองกำลังการผลิต และ 6.Democratized โลกที่ทุกคนจะมีอำนาจในการเลือก มีอิสรภาพ เลือกคิดผ่านเทคโนโลยี ซึ่งเหตุการณ์โควิดจะเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้เร็วขึ้นให้อยู่ในระดับ 3-4-5 เพราะคนถูกบีบให้ต้องกักตัว ดิจิตอลจึงเข้ามาแทนที่เพื่อใช้ทดแทน”


โมเดลทางธุรกิจหลังจากนี้ไปจะต้องเป็น resilient คือ ไม่ได้มองกำไรสูงสุด แต่ต้องอยู่ให้รอดในภาวะฝุ่นตลบ การจะปรับตัวได้ต้องมี 3 Low คือ 1) Low cost ลดค่าใช้จ่ายให้มากที่สุด 2) Low employment การจ้างงานที่ลดลงเพื่อลดต้นทุน และ 3) Low risk โมเดลธุรกิจใหม่คือใช้คนให้น้อยที่สุด ใช้เทคโนโลยีให้มากที่สุด เพื่อทันต่อการปรับตัวที่รวดเร็ว

เมื่อโลกทางเทคโนโลยีหมุนเร็ว ทักษะแรงงานและ Start up จะหมุนให้ทันอย่างไร

ดร.เกียรติอนันต์ สะท้อนว่า มีคนไม่ถึง 10% เท่านั้นที่เจอสถานการณ์โควิด-19 ไปแล้วกลับมาใหม่ได้ ส่วนที่เหลือจำเป็นต้องปรับตัวเพราะโจทย์ต่างไปจากเดิม เพราะดิจิตอลส่งผลให้หมุนเร็วขึ้น คนต้องเรียนรู้ให้กลายเป็นสัญชาตญาณ สิ่งสำคัญคือต้องรู้ตัวเองว่าอะไรคือ Core skill รู้ว่าตัวเองเก่งอะไร แล้วเอาตรงนั้นมาพัฒนา เช่น ช่างเสริมสวย เปลี่ยนตัวเองเป็น beauty blocker และพัฒนาต่อเป็นผู้ให้คำปรึกษาด้านความงาม แต่ Core Skill ยังเป็นความเชี่ยวชาญด้านความงามอยู่


“ยุคหน้าต้องรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่เราเชี่ยวชาญ เสริมทักษะหลักให้เก่งขึ้นและเรียนรู้ทักษะอื่น ๆ เพื่อมาประกอบ และไม่ใช่เรียนรู้อย่างผ่าน ๆ ต้องสังเกตตามเทรนโลกให้ทัน ใครทำตัวเองตกงานก่อน คนนั้นได้เปรียบ อย่ายอมให้ใครมาไล่เราออกก่อน แต่ต้องยอม disrupt ตัวเอง ใครก็ตามที่สามารถปรับตัวได้ก่อน มีทักษะใหม่ได้ก่อนและสร้างอาชีพใหม่ได้ก่อน คนนั้นจะไปต่อได้”

ต่อจากนี้อาชีพจะถูกทำลายและเกิดอาชีพขึ้นใหม่เรื่อย ๆ นักวิชาการทั่วโลกก็ตอบไม่ได้ว่าอาชีพที่เกิดขึ้นใหม่ในอีก 10 ปีข้างหน้าจะมีอาชีพอะไรบ้าง แต่เขารู้แค่ว่า ถ้าเป็นกลุ่มอาชีพสายนี้จะต้องมีทักษะอะไรบ้าง ดังนั้นการเรียนรู้ยุคใหม่จะต้องจับทักษะของตัวเองให้มั่น แล้วค่อย ๆ สังเกตโลกที่เปลี่ยนไป เรียนของตัวเองที่ลึกขึ้นแล้วปรับตัวให้เก่ง


โลกหลังจากนี้จะฝุ่นตลบมาก เศรษฐกิจจะชะลอตัว คนจะระวังการซื้อมากขึ้น ดังนั้นการปรับตัว Re Skill-up skill ของภาคธุรกิจและตลาดแรงงานเป็นสิ่งจำเป็น การก็อปปี้โมเดลธุรกิจจะไปเร็ว ดังนั้นผู้ประกอบการที่สำเร็จต้อง Disrupt ตัวเองให้เร็วก่อนที่คนอื่นจะมาก็อปปี้และทำลายเรา


“การใช้ข้อมูลจึงสำคัญที่สุดในยุคนี้ การที่มีข้อมูลจะบอกได้ว่า คนเดียวกันในแต่ละเวลาอยู่ในร่างไหน แล้วเราจะสร้างcontent อะไร เพื่อคลี่สิ่งที่อยู่ในใจของลูกค้า โดยดูความชอบและช่วงเวลาที่ชัดเจน เพื่อวางแผนการตลาดให้ถูกและสร้างจุดต่างได้ ความสามารถในการใช้ข้อมูลจึงเป็นอาวุธที่สำคัญในยุคนี้” ดร.เกียรติอนันต์ ทิ้งท้าย

////////////////////////////////////////////////////

บทความ: โดย บริษัท ออลไรท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด

ดู 10 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page