top of page

Ebook–Event กับแนวทางใหม่ที่ต้องรอด


วิทยากร:

  • คุณจรัญพัฒณ์ บุญยัง กรรมการผู้จัดการ บริษัท รุ่งเรืองตลอดไป จำกัด Founder of กวีบุ๊ค

  • คุณภัทรพร โพธิ์สุวรรณ์ CEO บริษัท อีเว้นท์ ป็อป จำกัด


‘ธุรกิจ Event’ ธุรกิจที่นับว่าได้รับผลกระทบโดยตรงในสถานการณ์โควิด–19

นับตั้งแต่การล็อคดาว์นประเทศ โดยงดจัดงานและกิจกรรมในทุกประเภท เพื่อลดการรวมตัวของผู้คนจำนวนมาก แม้สถานการณ์ปัจจุบันจะเริ่มคลี่คลาย แต่วิถีใหม่ของคนก็เปลี่ยนไป โดยเฉพาะการคำนึงถึงมาตรการเว้นระยะห่าง ทางกายภาพ รวมถึงรูปแบบใหม่ของการทำ Online Event นับเป็นโจทย์ใหม่ที่ท้าทายทางธุรกิจ

อีกหนึ่งธุรกิจที่น่าจับตาคือ ธุรกิจหนังสือและสื่อสิ่งพิมพ์ ท่ามกลางนิตยสาร-หนังสือพิมพ์ที่ทยอยปิดตัวลงหรือปรับตัวเป็นออนไลน์ แต่ในส่วนของธุรกิจสำนักพิมพ์และร้านขายหนังสือก็เริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น จากข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในปี 2562 พบว่า อมรินทร์ ยอดของรายได้จากหนังสือโตกว่า 16% เช่นเดียวกับซีเอ็ด ที่มีผลกำไรมากกว่า 14.6 ล้านบาท หลังจากปีก่อนที่เผชิญภาวะขาดทุน


ยิ่งในปัจจุบัน เทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งการขายหนังสือออนไลน์ และหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-book ที่มีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง บวกกับพฤติกรรมของคนที่เริ่มคุ้นชินกับการซื้อขายผ่านระบบออนไลน์ จึงนับเป็นธุรกิจขาขึ้นที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุค New Normal


รายการ ‘ชนะวิกฤต พลิกโอกาส’ Overcome Crisisรายการที่จะพาคุณชนะวิกฤตด้วยโอกาส ในมุมมองของนวัตกรรม โดย NIA Academy ตอนที่ 6 ‘E-book - Event กับแนวทางใหม่ที่ต้องรอด’ โดยมีวิทยากรประกอบ ด้วย คุณจรัญพัฒณ์ บุญยัง กรรมการผู้จัดการ บริษัท รุ่งเรืองตลอดไป จำกัด Founder of กวีบุ๊ค และ คุณภัทรพร โพธิ์สุวรรณ์ CEO บริษัท อีเว้นท์ ป็อป จำกัด ทาง Facebook live NIA Academy


เริ่มที่ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรงกับวิกฤตโควิด-19 อย่าง Event Pop คุณภัทรพร เล่าว่า วิกฤตโควิด-19 ส่งผลลบต่อธุรกิจ Event เรียกว่าเป็น ‘ศูนย์’ เพราะตั้งแต่เกิดล็อคดาว์นคือไม่สามารถจัดงานได้แล้ว กิจกรรมหลักคือการคืนเงินลูกค้าที่จองบัตรคอนเสิร์ต ทิศทางต่อไปของธุรกิจแม้จะเข้าสู่ออนไลน์ก็ยังไม่มีความชัดเจนในช่วงนั้น


“เดิม EVENTPOP เริ่มในปี 2015 จากการเห็นปัญหาระหว่างจัด work shop 3D Printing แล้วพบว่าไม่มีระบบการจัดงานได้สะดวก เลยพัฒนาระบบขึ้นมาใช้เองและเริ่มลองให้คนอื่นใช้ดู จากนั้นพบว่า สามารถทำเป็นธุรกิจได้และเริ่มมีนักลงทุนเข้ามาร่วมลงทุนจึงต่อยอดพัฒนาระบบโดยเป็นธุรกิจที่ช่วยสนับสนุนระบบต่าง ๆ ให้ธุรกิจ Event ตั้งแต่งาน workshop งานสัมมนา คอนเสิร์ต Festival และงานประชุมใหญ่ ๆ โดยมีระบบรองรับและเก็บข้อมูลของระบบทั้งหมด ตั้งแต่ขายบัตร ลงทะเบียน ประชาสัมพันธ์ การจัดการคนเข้างาน ซึ่งก่อนเกิดโควิดจะมีงาน Event ที่ใช้ระบบนี้สูงถึง 200-300 งานต่อเดือน และเริ่มเห็นสัญญาณตั้งแต่เดือนมกราคมที่ยอดไม่ถึงเป้า ที่ชัดเจนคือใกล้ล็อคดาว์นและเริ่มชัดเจนว่าคงไม่ได้จัดในช่วงนี้ในเดือนกุมภาพันธ์ และไม่น่าจะจบภายในปีนี้”


ทางรอดของการปรับตัวทางธุรกิจ Event คุณจรัญพัฒณ์ เล่าว่า ทางเลือกที่มีการปรับตัวคือไปหา online Event จึงเริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคมโดยประกาศว่า Event Pop เราเป็น Online Event และพร้อมจะช่วยผู้จัดงานปรับตัว ซึ่งในช่วงนั้นผู้จัดงานก็จะมีคำถามว่าคืออะไร และยังไม่มีใครสนใจที่จะจัดงานในลักษณะนี้ทำให้ถอดใจเหมือนกันในช่วงนั้น ก็เลยพัฒนาระบบให้มันรองรับ Online Event มากขึ้น และเริ่มมองหาธุรกิจใหม่ที่ไม่ใช่ Event ลองก้าวออกมาจาก เช่น การทำงานร่วมกับแพนกวิ้นชาบูขายชาบูออนไลน์ การขายคูปองต่าง ๆ และหันมาดูเรื่องงานโปรดักชั่นที่เคยลงทุนไว้ อย่าง Live Streaming ได้นำผลิตภัณฑ์และงานบริการของทีมมาขายต่อ จึงมีการจัดงานพวก Virtual Conference เช่น การจัดงานของ The Standard Virtual คอนเสิร์ต Virtual Music Festival รวมถึง Online Experience ที่ส่งตรงถึงบ้าน เช่น เรียนทำอาหารออนไลน์ โดยเราจัดส่งวัตถุดิบให้ลูกค้าที่ลงทะเบียนล่วงหน้า แล้วนัดหมายเพื่อมาทำอาหารร่วมกับเชฟชื่อดังงาน Virtual Run ที่ทุกคนแยกย้ายไปวิ่ง แล้วเชื่อมต่อระบบเพื่อเรียงลำดับการวิ่งแล้วส่งมองเหรียญถึงที่บ้าน


คุณจรัญพัฒณ์ มองว่า การจัด Virtual Conference เป็นงานที่ได้รับความนิยมอย่างมากในยุคนี้ เพราะเนื้อหาที่มีความเฉพาะเจาะจงและหาฟังได้ยาก หากเป็นรูปแบบอื่นต้องกลับมาดูเรื่องผลตอบรับของตลาดผู้บริโภคว่าคุ้มค่าที่จะจ่ายหรือไม่ ซึ่งธุรกิจปัจจุบันของ Event Pop ยุค New Normal จึงเน้นธุรกิจแบบไฮบริชทั้ง online และ off line ที่เชื่อมโยงกัน และ Virtual Conference ซึ่งจุดต่างที่ทำให้ผู้บริโภคยอมจ่ายท่ามกลางฟรีออนไลน์ โจทย์ที่ยากคือ รสนิยมในการนำเสนอ Content ที่ต่างออกไป และความ Unique ของเนื้อหา เพราะเมื่ออยู่บนโลกออนไลน์ คู่แข่งเราคือของฟรี การนำเสนอจึงต้องแตกต่างและต้องใหม่



ขอบคุณโควิดที่ทำให้เรามองนอกอุตสาหกรรม Event นวัตกรรมที่ได้พัฒนาขึ้นในช่วงวิกฤตโควิท ไม่ว่าจะเป็น online event หรือการทดลองนำระบบไปใช้ในการขายสินค้า ขายคูปอง ก็มีการต่อยอดมากขึ้น ลูกค้ากลุ่มใหม่อย่าง SME ก็พัฒนาระบบให้รองรับลูกค้ากลุ่มใหม่ จึงเป็นทิศทางใหม่ของ Event Pop ที่ไม่ใช่แค่ Event แต่มีทิศทางใหม่เพื่อสร้างรายได้ใหม่เข้ามา


ในทุกการเปลี่ยนแปลงมีโอกาส อยากให้กลับมาดู Core Value ของตัวเองว่าเราสามารถดึง Core Valueไปหาโอกาสได้หรือไม่ ควรเปิดโอกาสให้กับโอกาส เปิดรับมันให้มากขึ้น ยุคของการเอาตัวรอดและอยู่รอดคือคนที่มองเห็นโอกาสแล้ววิ่งเข้าหาโอกาสด้วย Solution และทำให้เร็ว”


อีกหนึ่งธุรกิจที่นับว่าขาขึ้นสวนกระแสธุรกิจการจัดงานอย่าง Start up กวีบุ๊ค คุณจรัญพัฒณ์ เล่าว่า กวีบุ๊คเป็นแพลตฟอร์มร้านหนังสือออนไลน์ทั้งการอ่านและเขียน ที่นักเขียนหรือสำนักพิมพ์สามารถลงเรื่องขายหนังสือได้ จุดเริ่มต้นมาจากโดยส่วนตัวเป็นคนชอบอ่านนิยายและการ์ตูนตั้งแต่เด็ก อ่านจนถึงตอนสุดท้ายพบว่านักเขียนหยุดเขียนไปและได้คำตอบในใจว่าเขาคงไม่มีกำลังใจ ไม่มีรายได้ เพราะนักเขียนออนไลน์เขาเขียนฟรี ไม่มีรายได้ จึงคิดว่าเป็นไปได้ไหมที่นักเขียนออนไลน์จะเป็นงานหลักที่มีรายได้ที่มั่นคง พอได้เริ่มทำกวีบุ๊ค ที่เป็นแพลตฟอร์มร้านหนังสือออนไลน์ ซึ่งเป็น Start up ของกลุ่มบริษัทกานดา พร็อพเพอร์ตี้ โดยเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อปี 61 ที่ผ่านมา


คุณจรัญพัฒณ์ เล่าว่า เว็บไซด์กวีบุ๊คจะมีระบบ ‘การให้กำลังใจ’ เพื่อสนับสนุนนักเขียนและสำนักพิมพ์ โดยเป็นการซื้อตอนเพื่ออ่าน เปรียบเสมือนผู้อ่านให้กำลังใจผู้เขียน โดยผู้อ่านสามารถเติมกำลังใจผ่านระบบเติมเงินในช่องทางโอนเงิน บัตรเครดิต True Money Linepay ส่วน ‘อั่งเปา’ เป็นการเบิกเงินจากระบบของนักเขียน เมื่อมีผู้อ่านให้กำลังใจนักเขียนและสำนักพิมพ์ โดยสามารถดูยอดรายได้ที่เกิดขึ้นในแต่ละเรื่อง หรือแต่ละเล่มได้ทุกวัน ซึ่งระบบนี้ช่วยสร้างรายได้ให้กับนักเขียน 5-6 หลักต่อเดือน นับเป็นก้าวที่ดี เพราะเราอยากให้เขามีรายได้และเขียนหนังสือต่อเนื่อง ส่วนสำนักพิมพ์จะได้รับส่วนแบ่งรายได้จากยอดขายสูงสุด 71% ซึ่งในปัจจุบันมีหนังสือ 6,000 กว่าเรื่องบนเว็บไซด์ และมีการต่อยอดเป็นระบบ E-Book ที่มีรูปร่างคล้ายกับหนังสือจริงบนออนไลน์ รวมถึงจะพัฒนาต่อในการจัดส่งหนังสือจริงเพื่อเป็นร้านขายหนังสือออนไลน์ควบคู่ไปด้วยกัน


ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ตลาด E-Book โตขึ้นทุกปี คุณจรัญพัฒณ์ มองว่า อาจเป็นเพราะร้านหนังสือหาอ่านยากขึ้น ผู้บริโภคต้องหาอ่านจากร้านหนังสือขนาดใหญ่ งานมหกรรมหนังสือ หรืออ่านในออนไลน์ และจุดเปลี่ยนของพฤติกรรมผู้บริโภคที่เริ่มคุ้นเคยกับสมาร์ทโฟนและตลาด E-Commerce จากการเปิดตัวของธุรกิจตลาดออนไลน์ยักษ์ใหญ่ ทำให้คนเริ่มคุ้นชินและไม่รู้สึกกังวลกับการทำธุรกิจทางการเงินมากขึ้น ทำให้ตลาดร้านหนังสือออนไลน์โตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกวีบุ๊คปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 200,000 คน และมีผู้เข้าใช้เว็บไซด์ 20,000 -30,000 UIP ต่อวัน ซึ่งกลุ่มผู้อ่านหลักคือ 1. วัยทำงานตอนต้น อายุ 25-34 ปี ทั้งเพศชายและหญิง 2. วัยรุ่น 18-24 ปี และ 3. 35- 44 ปี


ปรากฎการณ์ที่น่าสนใจในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 คือ งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ในช่วงเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ที่เริ่มปรับรูปแบบจากงานมหกรรมหนังสือเป็นการขายบนออนไลน์ผ่านเว็บไซด์ และสามารถทำยอดขายได้ถึง 36 ล้านบาท ทำให้หลายสำนักพิมพ์ต่างหันเข้าสู่การขายออนไลน์มากขึ้น อย่างไรก็ตาม คุณจรัญพัฒณ์ กลับมองว่า แพลตฟอร์มของกวีบุ๊คจะเป็นส่วนเสริมให้กับธุรกิจสำนักพิมพ์ โดยเป็นการเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายของสำนักพิมพ์ ผ่านการนำ E-book ที่มีอยู่แล้วมาลงได้เลย และข้อดีคือ ระบบกวีบุ๊คใช้ระบบการเติมเงินของผู้อ่าน ซึ่งมีเงินค้างอยู่แล้วและไม่สามารถนำไปใช้อย่างอื่นได้ต้องวนกลับมาใช้ ดังนั้นหากมีหนังสือของสำนักพิมพ์หรือนักเขียน ก็เป็นโอกาสที่คนจะซื้อ


กวีบุ๊คยังเป็นขุมทรัพย์รายได้ให้กับนักแปลและนักเขียนหน้าใหม่ คุณจรัญพัฒณ์ เล่าว่า หากสนใจเป็นนักแปล นักเขียนหน้าใหม่ ซึ่งงานแปลส่วนใหญ่คือนิยายและการ์ตูนจีน ญี่ปุ่น ส่วนงานเขียนที่ได้รับความนิยมส่วนใหญ่เป็นนิยายแนวกำลังภายในสมัยใหม่จะได้รับความนิยมสูง ซึ่งมีนักเขียนไทยมีรายได้ถึ 6 หลักต่อเดือน รองลงมาคือ นิยายแฟนตาซีที่มีความเชื่อมโยงกับเกมจะเข้าถึงคนได้มากขึ้น ส่วนผู้หญิงก็แนวเกิดใหม่ ย้อนอดีต หรือแนววาย สามารถส่งเรื่องมาที่ contact@Kawebook.com


“ผมมองว่า ตลาด E-Commerce ยังเติบโตได้อีกมากมองว่าเป็นโอกาส ทั้งสถานการณ์โควิด หรือสถานการณ์ภัยพิบัติต่างๆ ที่คนออกจากบ้านไม่ได้ ส่งผลให้กลุ่มใหม่ๆ อย่างผู้สูงอายุเริ่มใช้ไอทีมากขึ้น เริ่มซื้อของออนไลน์ จากเดิมที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยทำงานและวัยรุ่น


การทำ Start up อยากให้ทำเลย เมื่อประเมินความเป็นไปได้ พอมีโอกาสและอยากที่จะทำมัน ให้ทำเลย ล้มก็ทำใหม่ด้วยต้นทุนที่ไม่มาก การลงมือทำเราจะได้ประสบการณ์ เพราะหลายคนไม่ได้สำเร็จตั้งแต่แพลตฟอร์มแรก แต่ถ้าได้เริ่มตัวแรกก็มีโอกาสที่จะเริ่มในตัวต่อไป”





////////////////////////////////////////////////////

บทความ: โดย บริษัท ออลไรท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด


ดู 24 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page