top of page

คอร์สเรียนออนไลน์ รูปแบบใหม่ของการเรียนแห่งอนาคต


วิทยากร:

  • คุณพริษฐ์ วัชรสินธุ CEO STARTDEE แอปพลิเคชันเรียนออนไลน์สำหรับนักเรียน ป.1– ม.6

  • คุณเกริก ปทุมานันท์ co-founder Quest Edtech Start up การสอนออนไลน์วิชาภาษาอังกฤษ


ช่วงเวลาอยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ ส่งผลให้เวลาปิดภาคเรียนของเด็กไทยยาวนานขึ้นกว่า 2 เดือน !

ผลสำรวจของเด็กและเยาวชนไทย จำนวน 6,771 คน จากทั่วประเทศโดย ยูนิเซฟ UNFPA UNDP พบว่า ในช่วงนโยบายงดออกจากบ้านเด็กและเยาวชนมีเวลาว่างเพิ่มขึ้นมากกว่า 5 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งความต้องการเรียนรู้ออนไลน์ อันดับ 1 คือ วิชาภาษาอังกฤษ (60.61%) ตามด้วยความรู้เสริมที่เกี่ยวข้องกับการเรียนในปัจจุบัน (51.9%) และการเสริมสร้างทักษะนันทนาการ เช่น ศิลปะ กีฬา ดนตรี เขียนนิยาย ทำอาหาร เป็นต้น (39.34%)


เช่นเดียวกับวัยแรงงาน การ Work from home ทำให้หลายคนต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการประชุมออนไลน์ ซึ่งนั่นก็หมายถึงการเข้ามาของเทคโนโลยีในการชีวิตการทำงานและการเรียนรู้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และหากสังเกตบนโลกออนไลน์ เราจะได้เห็นคอร์สเรียนออนไลน์เพื่อพัฒนาทักษะและวิชาความรู้จำนวนมากยิ่งขึ้น


รายการชนะวิกฤต พลิกโอกาส overcome crisis ตอนที่ 3 คอร์สเรียนออนไลน์ รูปแบบใหม่ของการเรียนแห่งอนาคต โดย คุณพริษฐ์ วัชรสินธุ CEO STARTDEE แอปพลิเคชันเรียนออนไลน์สำหรับนักเรียน ป.1– ม.6 และคุณเกริก ปทุมานันท์ co-founder Quest Edtech Start up การสอนออนไลน์วิชาภาษาอังกฤษ ทาง FACEBOOK LIVE : NIA Academy เพื่อเปิดโลกแห่งการเรียนรู้บทใหม่ที่เทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือการเรียนรู้แห่งอนาคต


เริ่มด้วย คุณพริษฐ์ เล่าถึงจุดเริ่มต้นของ StartDee แอปพลิเคชันเรียนออนไลน์สำหรับนักเรียน ป.1–ม.6 ว่า StartDee เป็น Start up เพื่อสังคม เพราะมองว่าการศึกษาที่มีคุณภาพยังเข้าถึงยากและคุณภาพการสอนของแต่ละโรงเรียนยังต่างกัน และจากข้อมูลของ OECD และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ยังพบว่า 86% ของนักเรียนเข้าถึง สมาร์ทโฟน จึงอยากพัฒนาแอปพลิเคชันบนมือถือให้เป็นโรงเรียนแห่งที่ 2 ของเด็กและเยาวชนเพื่อให้เข้าถึงเนื้อหาการสอนที่มีคุณภาพ


StartDee ถือเป็น ‘Netflix ทางการศึกษา’ ทั้งวีดิโอการศึกษา แบบฝึกหัด และการสรุปบทเรียนทุกวิชาตั้งแต่ ป.1–ม.6 รวมถึงวิชานอกห้องเรียนที่สำคัญ เช่น ทักษะทางการเงิน ทักษะทางดิจิตอล และขั้นต่อไปของการพัฒนาแอปพลิเคชันจะเป็นการสร้างประสบการณ์เรียนรู้ในแต่ละบุคคล นั่นคือ เมื่อเด็ก 2 คน เปิดแอปจะเห็นหน้าจอที่ต่างกันตามความสนใจ ซึ่งในสถานการณ์โควิด-19 มีการเปิดตัวแอปพลิเคชันให้เร็วขึ้นเมื่อ 18 พค.ที่ผ่านมา เพื่อเข้าไปช่วยนักเรียนในสถานการณ์ที่โรงเรียนเลื่อนเปิดเทอม โดยประกาศให้ทดลองเรียนฟรี ไม่คิดค่าสมาชิกรายเดือน ซึ่งปกติราคา 200-300 บาทต่อเดือน ทำให้เข้าถึงเด็กที่ไม่เคยเรียนพิเศษ จากยอดดาว์นโหลดแอปพลิเคชันที่มีเด็ก 60-70% ไม่เคยเรียนพิเศษมาก่อน


“ผมมองว่าการศึกษาที่ดีต้องเป็นการศึกษาที่สนุกด้วย จึงออกแบบเป็น Learning journey แต่ละด่านด้วยวิดีโอสั้นและมีแบบฝึกหัดมาคั่นเพื่อเช็คความเข้าใจ เทคนิกการสอนออนไลน์จึงต่างกับการสอนในห้องเรียน โดยตั้งกฎไว้ว่า คลิปไม่ควรเกิน 10 นาที เพราะเด็กจะเสียสมาธิและสัดส่วนคนดูคลิปจนจบจะลดลงทันที มีแบบฝึกหัดเพื่อเช็คความเข้าใจหลังดูวีดิโอจบลง และข้อดีของการเรียนออนไลน์คือเด็กสามารถกดหยุดได้เพื่อประมวลผลจากสิ่งที่ครูถ่ายทอด อย่างไรก็ตามผมเชื่อว่าการศึกษาที่ดีควรเป็นการศึกษาที่ผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีกับการสอนในห้องเรียน”

นวัตกรรมมีผลอย่างมากในการออกแบบ Start Dee โดยใช้เทคโนโลยีเพื่อออกแบบการสอนผ่านออนไลน์ และการนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อเข้าใจพฤติกรรมการเรียนรู้ของเด็ก ทั้งข้อมูลทางตรงที่เด็กกด like dislike และข้อมูลจากการใช้งานของเด็กเพื่อจัดลำดับการเรียนเนื้อหาก่อนหลัง รวมถึงมีการใช้นวัตกรรมกระบวนการจากความคิดสร้างสรรค์ เช่น ออกแบบการสอนของครูโดยจำลองเรื่องราวว่ามีการขโมยเพชรในพิพิธภัณฑ์ ทำให้นักสืบมาสืบคดี ซึ่งมีการแตก Tense ถึง 12 Tense ซึ่งเป็นการออกแบบความคิดสร้างสรรค์ให้เด็กได้สนุกในการเรียนรู้


นอกจากนี้สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำ Start up จากเดิมเราวางแผนไว้ว่าเมื่อโรงเรียนเลื่อนเปิดเทอมออกไป ม.3 และ ม.6 จะกังวลเรื่องการสอบจึงจัดห้องเรียนออนไลน์พิเศษสำหรับ ม.3 และ ม.6 แต่พบว่าสมมุติฐานเราผิด เพราะสัดส่วนคนที่เข้ามาใช้แอปในแต่ละระดับชั้นสูงเท่ากันหมด จึงตัดสินใจทำห้องเรียนพิเศษ ม.1-6 ทุกระดับชั้น ซึ่งสะท้อนถึงวัฒนธรรม Start up ที่อยากจะเป็นคือ จากที่ตั้งสมมุติฐานไว้ว่าอยากช่วยกลุ่มไหนก่อน กลายเป็นต้องปรับเพื่อช่วยกลุ่มอื่น ๆ ด้วย


และสิ่งที่ได้เรียนรู้จากเหตุการณ์โควิด-19 ถึงความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นก็คือ การศึกษาไม่ใช่เรื่องสำหรับเด็กอีกต่อไป สิ่งที่เรียนในสมัยเรียนไม่สามารถใช้เป็นทักษะในการทำงานได้ในอนาคต เพราะเทคโนโลยีเข้ามาทดแทนงานในหลายประเภทมากขึ้น จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ทั้งลูกจ้างและผู้ประกอบการที่จะต้องเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ทำอย่างไรให้สิ่งที่รู้ในวันนี้มากกว่าสิ่งที่รู้เมื่อวาน


มาถึง Quest Edtech คุณเกริก เล่าถึงที่มาของการก่อตั้ง Start up การสอนออนไลน์วิชาภาษาอังกฤษว่า สิ่งที่ค้นพบคือภาษาอังกฤษคนต้องการเรียนเพื่อนำไปต่อยอด ไม่ว่าจะเป็นการสอบ Ielts Toefl Toeic จึงเปิดการสอนภาษาอังกฤษในปี 2013 ซึ่งเป็นการเรียนผสมผสานกับออนไลน์บนมือถือและเว็บไซด์ แต่ตอนนั้นเทอร์เน็ตยังไม่เร็วพอ พอถึงปี 2018 จึงพัฒนาเป็น Start up ขึ้นมา โดยใช้ชื่อว่า Quest Edtech ซึ่งมี Quest language เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์เพื่อพัฒนาทักษะทางภาษาอังกฤษของผู้เรียนเพื่อไปสอบระหว่างประเทศหรือต้องไปทำงานระหว่างประเทศ ซึ่งผู้เรียนส่วนใหญ่จะอยู่ในระดับชั้น ม.ปลาย จนถึงวัยแรงงานจากทั่วโลก


“ในช่วงโควิด-19 ได้เข้ามาทลายระบบทุกอย่าง ทุกคนต้อง work from home หรือ learn from home อย่างหนึ่งที่ผมเห็นคือพ่อแม่ต้องอยู่กับลูก เขาแทบไม่รู้เลยว่าต้องทำอะไร ผมอยู่บ้านกับลูกก็ยังไม่รู้เลยว่าถ้าจะไปเรียนที่โรงเรียนจะต้องวางแผนอย่างไรกันต่อ สิ่งหนึ่งที่คิดคือไม่อยากให้ลูกอยู่กับหน้าจอโดยไม่ทำอะไรเลย ผมเลยคิดจาก pain point ว่าน่าจะต้องมีคนสอนทักษะพื้นฐานให้กับเด็ก นั่นก็คือทักษะการอ่านให้กับเด็ก ให้รักการอ่านเมื่ออ่านแล้วเด็กจะมีอะไรทำ และมีพ่อแม่ซึ่งเป็นเหมือนพี่เลี้ยงคอยให้คำแนะนำ จึงเกิดผลิตภัณฑ์ใหม่คือ du Phonics คือสอนการออกเสียงให้กับเด็ก ป.1- 6 โดยมีครูเป็นเหมือนพี่เลี้ยงออนไลน์ หรือ Tele-Nanny ทั้งครูและเด็กให้มีความรู้สึกสบายมากที่สุด ไม่มีกระดาษ ไม่มีดินสอ มีแต่เสียงต่าง ๆ ที่เด็กไม่เคยรู้มาก่อนผ่านกิจกรรมเช่น เล่านิทาน เล่นดนตรี ซึ่งเป็นเหมือนการผจญภัยที่ทำให้อ่านออก สิ่งที่พบจากที่เพิ่งเปิดตัวในช่วงเมษายนที่ผ่านมา แต่กลับมาผลประกอบการเท่ากับที่ Quest language ทำทั้งปี ซึ่งเป็น pain point ที่ไม่เคยคิดขึ้นมาก่อน แต่โควิดทำให้มีโอกาสได้ลอง”

การเรียนภาษาอังกฤษ ควรจะเป็น Research and Practice เอาไปใช้เลย บ้านเรายังใช้เวลานานมากในการเรียนกว่าจะปฏิบัติ ค้นหาสิ่งที่อยากจะเรียน แล้วหาวิธีใช้มัน เช่น เล่นเกมออนไลน์กับชาวต่างชาติ ใช้สื่อโซเชียลมีเดียกับชาวต่างชาติ เป็นต้น


เทคนิคการเรียนออนไลน์ สำหรับเด็กเล็กคือการเปลี่ยน mindset ของครูและเด็กให้สนุกกับการเรียนรู้ ซึ่งเมื่อ mindset เปลี่ยนว่าสอนให้สนุก ครูจะปรับรูปแบบการสอน และออกแบบการเรียนรู้เอง ดังนั้นหัวใจของการสอนยังอยู่ที่ครู และครูควรตั้งคำถามเป็นระยะ


“ในวิกฤตโควิดกระทบประชาชนในวงกว้าง Start up ถูกสร้างขึ้นเพื่อมาตอบ Pain Point จึงอยากให้มองธุรกิจเหมือนปากกา คุณควรคิดธุรกิจของคุณให้เป็นเหมือนหมึก ไม่ว่าวิกฤตหรือไม่ก็สามารถใส่ได้ในปากกาหลายรูปแบบ”

////////////////////////////////////////////////////

บทความ: โดย บริษัท ออลไรท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด

ดู 548 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page