วิทยากร:
ทพญ.กัญจน์ภัสสร สุริยาแสงเพ็ชร์ เจ้าของ OOCA แอปพลิเคชันมือถือ
คุณเขมิกา จิวะพรทิพย์ CEO Physique 57 Bkk
เมื่อเทรนด์คนเมืองหันมาใส่ใจสุขภาพมากยิ่งขึ้น
Next Normal หลังพ้นวิกฤต COVID-19 วิเคราะห์โดย FutureTales Lab by MQDC ศูนย์วิจัยอนาคตศึกษาแห่งแรกในภูมิภาคอาเซียน ได้วิเคราะห์เทรนด์ที่สังคมไทยควรตั้งรับของอนาคตคนเมือง ทั้งในแง่มุมพฤติกรรมการใช้ชีวิต การอยู่อาศัย เทคโนโลยี การเดินทาง และการดูแลสุขภาพ พบว่า ใน 10 เทรนด์ มีประเด็นหนึ่งที่พูดถึงพฤติกรรมสุขภาพของคนไทยที่พบว่า มีแนวโน้มใส่ใจสุขภาพมากยิ่งขึ้น คำนึงถึงสินค้าที่เน้นเรื่องความสะอาด ที่สำคัญแพลตฟอร์มการดูแลสุขภาพและการป้องกันความเจ็บป่วย หรือ Proactive Healthcare Platform จะมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น โครงสร้างพื้นฐานของเมือง อาคาร บ้านจึงต้องมีบริการในเรื่องเหล่านี้ รวมถึงมีแพลตฟอร์มสุขภาพและสุขภาพจิตเป็นบริการพื้นฐาน
รายการชนะวิกฤต พลิกโอกาส overcome crisis ตอนที่ 5 เรื่อง ไอเดียใหม่ของธุรกิจสุขภาพ โดยมีวิทยากรที่ร่วมแลกเปลี่ยนคือ ทพญ.กัญจน์ภัสสร สุริยาแสงเพ็ชร์ เจ้าของ OOCA แอปพลิเคชันมือถือ ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่ให้คำปรึกษาทางด้านสุขภาพจิตกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และคุณเขมิกา จิวะพรทิพย์ CEO Physique 57 Bkk ธุรกิจฟิตเนส ที่มีการปรับตัวในช่วงล็อคดาวน์ จนเกิดวิถีใหม่ของการออกกำลังกาย
จุดเริ่มต้นของการพัฒนา อูก้า แอปพลิเคชัน ทพญ.กัญจน์ภัสสร เล่าว่า อูก้า มาจากโจทย์ที่ต้องการแก้ปัญหาเรื่องสุขภาพจิต เนื่องจาก 1 ใน 4 ของคนมีภาวะความเครียด แต่การเข้าถึงบริการทางจิตแพทย์ยังค่อนข้างจำกัด เพราะเขินอาย กลัวถูกมองว่ามีปัญหา หรือการนัดหมายแพทย์ที่ใช้เวลารอคิวที่ยาวนานนับเดือนหรือเป็นสัปดาห์ จึงพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อแก้ไขปัญหา โดย อูก้า จะมีทั้งจิตแพทย์ นักจิตวิทยาคลินิค นักจิตวิทยาการปรึกษา กุมารแพทย์สาขาพัฒนาการและพฤติกรรมเด็กและวัยรุ่นให้คำปรึกษา สามารถลงทะเบียนออนไลน์เพื่อนัดหมายโดยใช้เวลาเพียง 4 ชั่วโมง หรือเข้ารับบริการได้เลยหากมีอาจารย์ออนไลน์อยู่และผู้รับบริการไม่จำเป็นต้องเปิดเผยชื่อ ตัวตนของตนเอง ทำให้รู้สึกปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
การพัฒนาระบบให้คำปรึกษาผ่านรูปแบบออนไลน์ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องต่อสู้ให้เกิดการยอมรับทั้งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและผู้รับบริการ ทพญ.กัญจน์ภัสสร เล่าว่า อูก้า แอปพลเคชัน พัฒนาเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ในช่วง 1 ปีแรก เป็นการวิจัยข้อมูล พัฒนาความเป็นไปได้ เพื่อให้มั่นใจว่าทำได้จริงและถูกต้องตามหลักการทางวิชาชีพ ซึ่งปีแรกต้องต่อสู้หลายอย่าง ทั้งความเชื่อมั่นของคุณหมอที่ไม่คุ้นชินกับรูปแบบใหม่จากเดิมที่เห็นบุคลิกท่าทางของผู้ให้คำปรึกษา แต่เมื่อพัฒนาไปก็พบว่า เรามีคนไข้เพิ่มมากขึ้น และมีอาจารย์ให้คำปรึกษามากขึ้น จาก 9 คนในปีแรก เป็น 100 คน ในปัจจุบัน สะท้อนว่าเทคโนโลยีได้รับการยอมรับมากขึ้นทั้งจากคุณหมอและผู้รับบริการ
ทพญ.กัญจน์ภัสสร มองว่า จุดเด่นของอูก้าคือ เป็นเจ้าแรกของ Tele Medicine ทำให้คนที่อยู่บ้าน อยู่ในพื้นที่ส่วนตัวก็สามารถพบแพทย์ได้ และไม่จำเป็นต้องบอกใคร ไม่ต้องเปิดเผยตัว รูปแบบการให้บริการจึงมีตั้งแต่คนทั่วไป โดยดาวน์โหลดแอปพลิเคชันอูก้า ทั้งระบบแอนดรอยและ IOS แล้วใช้งานได้เลยโดยจ่ายเงินผ่านบัตรเครดิต อีกบริการ ซึ่งเป็นลูกค้าหลักคือ การให้บริการผ่านทางบริษัท สำนักงานที่ซื้อแพคเกจเพื่อดูแลสุขภาพทางใจของพนักงาน และอีกรูปแบบคือความร่วมมือกับศูนย์จิตวิทยาเด็กและวัยรุ่น ตามโรงพยาบาลต่างๆ เนื่องจากในช่วงโควิด ผู้รับบริการไม่สามารถเข้ามาใช้บริการไม่ได้ อูก้าจึงเป็น Platform as a service เพื่อให้โรงพยาบาลสามารถให้บริการคนไข้ทางออนไลน์ได้ โดยมีระบบรักษาความปลอดภัยของผู้รับบริการ
สำหรับในช่วงสถานการณ์โควิด พบว่า ตัวเลขผู้เข้ารับบริการเมื่อ 3 เดือนที่แล้วเมื่อเทียบกับยอดของปีที่แล้วในช่วงเวลาเดียวกัน พบว่า มีการเติบโตของจำนวนผู้เข้าใช้บริการถึง 226 เท่า และหากเทียบจากเดือนมกราคม พบว่า เติบโตถึง 300 เท่า โดยยอดส่วนใหญ่ยังคงมาจากพนักงานที่บริษัทให้การสนับสนุน ซึ่งเป็นกลุ่มวัยทำงาน โดยส่วนใหญ่จะเข้ารับคำปรึกษา เรื่องความสัมพันธ์ ครอบครัว และการทำงาน ส่วนปัญหาที่เกี่ยวกับโควิดโดยตรงค่อนข้างน้อย ไม่ถึง 10% อย่างไรก็ตามหากแนวโน้มทิศทางของผู้เข้ารับบริการมีมากขึ้นจากผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจ หากประสบปัญหาค่าใช้จ่ายสามารถทักเพื่อเข้ารับบริการได้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ส่วนแผนการรองรับหากมีผู้เข้าใช้บริการจำนวนมากนั้น เชื่อว่า อูก้ามีการรองรับที่เพียงพอ และมีแผนพัฒนาในอนาคตที่จะรองรับคน โดยครึ่งปีหลังต้องการให้รองรับได้ถึง 100 คนต่อวัน รวมถึงการให้บริการที่หลากหลาย
ข้อคิดสำคัญของธุรกิจ Start up ของ ทพญ.กัญจน์ภัสสร ในวัยเพียง 30 ต้น ๆ แต่กล้าริเริ่มทำ Tele Medicine ด้านสุขภาพจิตเจ้าแรกของไทยและต้องฟันฝ่าวิกฤตความเชื่อมั่นของแพทย์และผู้ใช้บริการ
ทพญ.กัญจน์ภัสสร มองว่า Founder ใจต้องนิ่ง มองไปข้างหน้าเพื่อหาโอกาสทำอย่างไรก็ได้ให้อยู่รอดได้ด้วยตนเอง
สำหรับสถานการณ์หลังโควิดที่ส่งผลให้พฤติกรรมคนเปลี่ยนไปจากเดิม สิ่งสำคัญของการปรับตัวทางธุรกิจเพื่อให้อยู่รอด ทพญ.กัญจน์ภัสสร มองว่า เราต้องรู้ว่าจุดแข็งของเราว่าคืออะไร เทรนด์มาทางนี้ แล้วเพื่อนของเราหรือคู่แข่งของเราเตรียมทำอะไร ถ้าสถานการณ์เปลี่ยน เราดูที่จุดแข็งของเราเป็นหลัก และดูจากปัจจัยเสี่ยงควบคู่ไปด้วย ซึ่งการนำนวัตกรรมมาช่วยพัฒนาอยู่ที่ว่าจะเข้ามาในรูปแบบไหน เพื่อปรับปรุงในเรื่องอะไร สิ่งที่สำคัญคือใช้ให้เป็น ใช้ให้ถูก
อีกหนึ่งธุรกิจสุขภาพ อย่างธุรกิจฟิสเนสที่ได้รับผลกระทบโดยตรงในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด แต่กลับกลายเป็นโอกาสทางธุรกิจใหม่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ของ Physique 57
คุณเขมิกา เล่าว่า เดิมที Physique 57 คือ บูทีคบาร์สตูดิโอที่มีเอกลักษณ์ของการออกกำลังกายโดยใช้เทคนิคของนักบัลเลย์ด้วยการบริหารกล้ามเนื้อมัดเล็กและมัดใหญ่ไปด้วยกัน พร้อมกับมีจุดเด่นคือ การออกกำลังกายเป็นไลฟ์สไตล์ที่สนุก มีกิจกรรมร่วมกัน เมื่อเกิดเหตุการณ์โควิด เราติดตามข่าวตลอดเวลาทำให้สามารถวางแผนรองรับก่อนปิดบริการได้ล่วงหน้า และปิดให้บริการก่อนที่รัฐบาลจะประกาศให้ปิด โดยบอกลูกค้าว่าจะมีแผนรองรับ ซึ่งในวันแรกหลังการจากปิดให้บริการก็มี Live Class ทันที โดยดึงจุดเด่นคือ การทำ community ดังนั้นเมื่อเปิดเป็น online service ผ่านทาง Facebook close group จึงใช้ชื่อว่า Baan 57 โดยเน้นกิจกรรมที่หลากหลายตามความถนัดของครู เช่น ร้องเพลง สอนการทำอาหาร สอนแต่งหน้า ทำผม Talk series รวมถึงการสอนบัลเลย์เด็ก รวมทั้งการขายของออนไลน์พร้อมกับปรับรูปแบบกิจกรรมออกกำลังกายที่บ้านให้เข้ากับพื้นที่ที่จำกัดโดยไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ อย่างไร ก็ตามรูปแบบของการ live Class ออกกำลังกาย ยังพบว่า เป็นการสื่อสารทางเดียว ยังขาดปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน ภายใน 2 สัปดาห์ จึงพัฒนา Virtual Barre Studio คือการออกกำลังกายผ่าน Zoom เพื่อให้ครูและผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน
สิ่งสำคัญของการปรับตัวของธุรกิจฟิสเนสได้ไว ทันต่อสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงจนก่อให้เกิดธุรกิจใหม่ นั่นคือ ‘ทีมงาน’
คุณเขมิกา แบ่งปันถึงเทคนิคการดึงศักยภาพของทีมงานในช่วงเวลาวิกฤตไว้ว่า การจะดึงศักยภาพของคนออกมาได้
ทีมงานต้องเห็น vision ของเราว่าคืออะไร พอเราปิดสตูดิโอ ทุกคนก็เริ่มกังวลถึงรายได้แล้ว เราต้องบอกกับทีมงานว่า ถ้าเราปิดสตูดิโออะไรต้องเกิดขึ้นบ้างเพื่อความอยู่รอดของสตูดิโอ Vision ที่ให้ไว้คือ online ยังไงก็ต้องมา มันแค่มาเร็วกว่าที่คิด ฉะนั้นวันนี้ต้องพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสให้ได้เปิดธุรกิจอีกด้านหนึ่ง เรามองให้เป็นความท้าทาย ออนไลน์ทำแล้วไม่เสียเปล่า แต่นี่คือสิ่งใหม่ที่เขาจะสร้างจากน้ำมือของเขาเอง
ต้องสร้างความไว้ใจ หรือ Trust กับทีมงานของเราโดยให้ทุกคนมีส่วนร่วม เพราะทุกคนใหม่หมดบนออนไลน์ แต่เราเปิดให้ทุกคนมาเสนอสิ่งที่อยากจะทำ ซึ่ง Virtual Barre Studio ทีมงานก็เป็นคนอาสาทำ จนมาวันนี้ Physique 57 ที่หลายคนรู้จักเมื่อ 5 ปีที่แล้วหายไปแล้ว เราเป็น Physique 57 รูปแบบใหม่ ที่มีทั้ง in studio service และ online service
โจทย์ท้าทายในยุค New Normal ที่หลายธุรกิจเริ่มปรับตัวสู่ออนไลน์ รวมถึงธุรกิจสุขภาพอย่างฟิตเนส คุณเขมิกา มองว่า ในทุกธุรกิจ ทุกคนจะมีไอเดียที่คล้ายกัน แต่มันขึ้นอยู่กับว่าเราลงมือทำตามไอเดียของเราได้ดีหรือไม่ ซึ่ง Physique 57 เราก็ควรจะทำจากจุดแข็งของเราคือ ธุรกิจ in studio ฉะนั้นออนไลน์ถือว่าเป็น complementary service เป็นประตูบานใหม่ให้กับเรา และจากนี้จะต้องใช้เวลาในการเรียนรู้พื้นฐานของแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อต่อยอดให้เป็นธุรกิจระยะยาว เช่นการย้ายจากเฟสบุ๊คกลุ่มปิดเป็นแอปพลิเคชัน และต้องเป็น life style ที่แท้จริงและมีความหลากหลายบนออนไลน์ให้ได้ เพื่อขยายฐานลูกค้าให้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม คุณเขมิกา มองว่า ในยุค New Normal พฤติกรรมของคนไม่ได้เปลี่ยนไป ยังรักสุขภาพเหมือนเดิม เพียงแต่เขาจะใช้เวลาอย่างไรใน new normal นี้ และในช่วงเศรษฐกิจแบบนี้เขาจะมีความสามารถในการใช้จ่ายกับเราได้มากน้อยเพียงใด ซึ่ง online จะสร้างให้เป็น complementary service ที่ดีให้ใครๆ ก็สามารถเข้าถึงได้ เพราะ in studio มีค่าใช้บริการอยู่ที่ 1,050 บาท ส่วนonline อยู่ที่ 275 บาท โดยคิดต้นทุนที่แท้จริงและเปิดกว้างให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้
“ข้อคิดที่ได้จากมุมมองทางนวัตกรรมเพื่อรองรับการปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์ จะเห็นได้ว่าคิดอย่างมีนวัตกรรมส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก จาก in studio เป็น online ช่วยลดต้นทุนที่เกิดขึ้น ในช่วงก่อนโควิด Physique ใช้คนจำนวนมาก พอในช่วงโควิดที่ต้องตัดรายจ่ายลง แต่ไม่อยากจะลดคน จึงต้องเพิ่มประสิทธิภาพของคนให้ทำงานที่หลากหลายมากขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ มาช่วยเสริมในการทำงาน”
สำหรับการบริหาร cash flow เมื่อเปิดธุรกิจ online คุณเขมิกา แลกเปลี่ยนว่า สิ่งที่ต้องทำก่อนคือ budget ว่าใน 1 ปี ธุรกิจเรามีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง แล้วรายได้จะได้จากทางใด เพื่อมอนิเตอร์รายวันจะได้รู้ว่าเป็นตามเป้าหรือไม่นั่นคือสถานการณ์ปกติ ส่วนในสถานการณ์โควิด ให้เริ่มจากการกางค่าใช้จ่ายทั้งหมดออกมาเรียงกัน แล้วมีเงินสดอยู่เท่าไหร่เพื่อนำไปหาร จะได้รู้ cash flow ที่จะทำธุรกิจต่อไปอีกจำนวนกี่เดือน แล้วกลับไปมองขั้นของรายได้ว่าจะทำอย่างไรที่จะเติม cash flow ให้เพิ่มขึ้นได้อีก
“เมื่อเราเป็น Start up และเกิดวิกฤต และรู้ว่าจะต้องปรับตัว หลายคนคิดว่า ฉันนี่แหละที่จะต้องปรับตัวให้ได้ แต่คิดว่าสิ่งที่ได้ทำคือ การขอความช่วยเหลือ สิ่งหนึ่งที่พูดกับทีมงานคือว่า รู้ว่าทิศทางธุรกิจออนไลน์จะต้องมา แต่พี่ยังไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร พี่ขอความช่วยเหลือจากทุกคน และเราต้องรอด การขอความช่วยเหลือเป็นการให้อำนาจในการตัดสินใจกับคนที่เราขอความช่วยเหลือด้วย พอเขาแนะนำสิ่งที่จะเป็นแนวทางต่อ ก็ต้องอย่าเอาความคิดของเราเป็นที่ตั้ง อย่าเพิ่งไปบอกว่าไม่ work หรอก เราต้องทดลองว่ามันไปได้หรือไม่ ดังนั้นขอความช่วยเหลือจากคนที่เราทำงานด้วย หรือจากคนที่ทำธุรกิจที่คล้ายกันเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจะทำให้แนวทางไปต่อของเราชัดขึ้น”
////////////////////////////////////////////////////
บทความ: โดย บริษัท ออลไรท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด
Comments