top of page

สูงวัย ปลอดภัย ใช้ยาอย่างไรให้ได้ประโยชน์


วิทยากร: รศ.พญ.วารุณี พรรณพาณิช วานเดอพิทท์


เคยไหม เวลาจะหยิบยาให้บรรดาคุณตาคุณยายกินสักครั้ง ต้องตกใจกับถุงยาใบโต ที่ข้างในมี ยาเบาหวาน ความดัน แก้หวัด คัดจมูก ยาดม ยาลม ยาหม่อง สารพัดยารักษาโรค ชวนให้ตาลายได้เหมือนกัน

ขึ้นชื่อว่า สูงวัย แน่นอนว่าเป็นเรื่องคู่กันกับสุขภาพ และก็หนีไม่พ้นเรื่องของยารักษาโรค การกินยา ถือเป็นอีกหนึ่งวิธีในการเยียวยา รักษา ทำให้ความเจ็บป่วยทุเลาลงหรือหายเป็นปกติ แต่การกินยาก็ไม่ได้ส่งผลดีอย่างเดียวเท่านั้น หากเรากินยาไปโดยที่ไม่ระมัดระวัง กินยาน้อยหรือเกินขนาดมากไป ก็สามารถกลายเป็นโทษได้เช่นกัน


รศ.พญ.วารุณี พรรณพาณิช วานเดอพิทท์ หรือ คุณหมอเปิ้ล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ อธิบายว่า ในผู้สูงวัย การกินยาอาจจะไม่ค่อยช่วยมากนัก เนื่องจากร่างกายอาจตอบสนองได้ไม่ดีเท่าที่ควร เพราะอวัยวะในการขับยาจะไม่ดี อาจทำให้เป็นพิษได้ รวมไปถึงระบบประสาทอัตโนมัติเสื่อม ดังนั้น ทุก ๆ วัย จึงควรเน้นป้องกันก่อนที่จะให้เกิดโรคแล้วรักษา นั่นเอง


เอะอะ ก็จะกินยา เชื่อว่าหลายคนเป็นไม่ใช่เฉพาะผู้สูงวัยเท่านั้น เจ็บนิด เจ็บหน่อย ก็ถามหายากันแล้ว พฤติกรรมดังกล่าว ทำให้เกิดปัญหาเชื้อดื้อยา หากเราใช้ยาไม่ถูกต้อง อาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้ ต้องทำความเข้าใจก่อนว่ายาปฏิชีวนะจะออกฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น หลายคนมักจะเข้าใจผิด คิดว่ายาเหล่านี้ คือ ยาแก้อักเสบ ซึ่งไม่ใช่ความจริง คุณหมอเปิ้ล ยังแนะนำทริค ลดความเสี่ยงจากเชื้อดื้อยาด้วยว่า หากมีอาการเหล่านี้ 3 ใน 4 ข้อ แสดงว่า ติดเชื้อแบคทีเรียต้องกินยาปฏิชีวนะ คือ 1.มีไข้สูง 38 องศา 2. ส่องคอต้องเห็นจุดหนอง 3.ต้องไม่มีอาการไอ หรือน้ำมูก และ 4. ต่อมน้ำเหลืองที่คอต้องไม่โต ลองสำรวจกันก่อนที่จะตัดสินใจกินยาปฏิชีวนะ เพราะการใช้ยาปฏิชีวนะ อาจทำให้ติดเชื้อซ้ำ ดังนั้น หากได้รับการรักษาด้วยยาชนิดดังกล่าว ต้องรักษาให้ครบคอร์สตามแพทย์สั่งเท่านั้น สำหรับอาการที่ไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ ได้แก่ หวัดลงคอ ท้องเสีย และแผลสด นั่นเอง


นอกจากเรื่องเชื้อดื้อยา ที่เป็นปัญหาให้หลายคนต้องระวังแล้ว ปัจจุบันเมื่อเทคโนโลยีทางการแพทย์มีการพัฒนา มากขึ้น เรามักจะเห็นว่าหลายคนนิยมฉีดวัคซีนป้องกันโน่น นี่ นั่น อย่างอาการสำลักอาหาร ซึ่งเป็นความเสื่อมของ เส้นสมองในการเปิดปิดกล่องเสียง โดยต้องยอมรับว่าในผู้สูงวัยทุกอย่างในร่างกายจะสับสน เรื่องการสำลักอาหาร จึงควรฉีดวัคซีนปอดบวม เพราะแก้ไขยาก นอกจากนี้ยังมีวัคซีนชนิดอื่นๆ สำหรับผู้สูงอายุ ได้แก่ วัคซีนคอตีบ วัคซีนงูสวัด วัคซีนโรคหัด วัคซีนไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนไวรัสตับอักเสบบี แต่ต้องปรึกษาคุณหมอก่อนรับวัคซีนกันด้วย เพราะแต่ละคนมีปัจจัยสุขภาพที่แตกต่างกัน


อีกหนึ่งปัญหาที่สำคัญของคนวัยนี้นั่นก็คือ ระบบขับถ่าย คุณหมอเปิ้ลแนะนำว่า ควรกินอาหารให้เป็นยา โดยเน้นรับประทานธัญพืช จำพวก ข้าวกล้อง ลูกเดือย รับประทานอาหารที่หลากหลาย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องดูด้วยว่าตัวเองมีโรคประจำตัวที่ต้องห้ามรับประทานธัญพืชหรือไม่ เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น แทนที่จะได้รับประโยชน์ อาจกลับกลายเป็นโทษแทน และในทางกลับกันหากมีอาการท้องเสีย ต้องดื่มน้ำ ชดเชยสารน้ำ ที่ร่างกายเสียไป และรับประทานพืชใต้ดิน อย่างแครอท หัวหอมใหญ่ เป็นต้น


เราสามารถเลือกได้ว่าอยากจะสูงวัยแบบไหน จะ 60 ปั๊ป รับทุกโรคหรือไม่ แต่สำหรับคุณยายคุณตาทั้งหลาย ที่ไม่มีโรคตับ โรคไต เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ห้ามหยุดยาเองเด็ดขาด แต่ถ้าไม่มั่นใจให้ปรึกษาแพทย์เป็นดีที่สุด อย่าลืมออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำสะอาด และรับประทานอาหารให้เพียงพอ และสุดท้ายนี้ อย่าลืมนำทริคที่คุณหมอเปิ้ลแนะนำไปปรับใช้ในการกินยาที่ปลอดภัยกันด้วยนะคะ


////////////////////////////////////////////////////

บทความ: โดย บริษัท ออลไรท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด

ดู 1 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comentarios


bottom of page