top of page

รับมือการเงินอย่างไร เมื่อใกล้วัยเกษียณ


วิทยากร: คุณบุษยพรรณ วัชรนาคา ที่ปรึกษาทางการเงินธนาคารกสิกรไทย


เมื่อย่างเข้าสู่สูงวัย นอกจากเรื่องสุขภาพแล้ว สิ่งที่ หลายคนเริ่มกังวล คือ ภาวะทางการเงิน คำถามต่อมา คือ เราควรมีเงินไว้ใช้หลังเกษียณมากน้อยแค่ไหนกันนะ

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า คนทุกวัยหนีไม่พ้นเรื่องของการเงิน เพียงแค่ แต่ละวัย มีจุดที่ต้องพิจารณาแตกต่างกัน อาจขึ้นอยู่กับว่าเรามีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเท่าไหร่ มีทรัพย์สินเดิมอยู่มากน้อยแค่ไหนและ ที่สำคัญสุขภาพร่างกายจะแข็งแรงสักเท่าใด ซึ่งสิ่งเหล่านี้บ่งบอกถึงค่าใช้จ่ายที่ จะตามมาส่งผลต่อสภาพทางการเงินหลังเกษียณแทบทั้งสิ้น


คุณบุษยพรรณ วัชรนาคา ที่ปรึกษาทางการเงินธนาคารกสิกรไทย แนะนำเคล็ดลับสำหรับผู้สูงวัยที่เริ่มวางแผนทางการเงินหลังเกษียณว่า การวางแผนทางการเงินควรแบ่งเป็น 3 ขั้นตอน คือ สิ่งที่ต้องเตรียมก่อนหยุดทำงาน การบริหารเงินหลังเกษียณและการจัดการทรัพย์สินเพื่อส่งต่อให้กับคนที่เรารัก


  1. สิ่งที่ต้องเตรียมก่อนหยุดทำงาน ขั้นแรกนี้ ต้องแยกระหว่าง สิ่งที่ควรมี กับสิ่งที่ควรเคลียร์ สิ่งที่ควรมี อาทิ กองทุนที่เราเข้าร่วมสะสมเงินเป็นรายเดือนจนถึงวัยเกษียณ รวมไปถึงรายรับ สวัสดิการเพิ่มเติมต่างๆ ส่วนสิ่งที่ควรเคลียร์นั้น ต้องคำนวณรายจ่ายด้านต่าง ๆ ว่าเรามีภาระหนี้สินใดที่ต้องจ่ายบ้าง ลองมาสำรวจดูว่า ในชีวิตการทำงานของเรามีปัจจัยเหล่านี้หรือไม่ สิ่งที่ควรมี เช่น PVD/กบข. , ประกันสังคม, เงินก้อนสุดท้ายจากนายจ้าง, LTF/RMF, ประกันชีวิต และ ประกันสุขภาพ สิ่งที่ควรเคลียร์ เช่น ภาระผ่อน, เบี้ยประกันชีวิต และค่าการศึกษาบุตร

  2. การบริหารเงินหลังเกษียณ คนก่อนเกษียณส่วนใหญ่ รายได้มาจากการทำงาน ดังนั้น หลังเกษียณ รายได้ย่อมมาจาก ดอกเบี้ยและเงินสนับสนุนของคนในครอบครัว แน่นอนว่าขั้นตอนนี้เชื่อมต่อกับขั้นตอนแรกที่กล่าวมาข้างต้น หากเราได้เงินก้อนจากสิ่งที่ควรมีหลังเกษียณ แล้วนำเงินเหล่านั้นมาต่อยอดเพื่อเพิ่มพูนรายรับ โดยหลักคิดเกี่ยวกับการได้รับเงินก้อน คือ ตรวจสอบสิ่งที่มีก่อนได้เงินก้อน จัดทำรายรับรายจ่ายประจำเดือน และสร้างภาพจำลองทางการเงิน และหากจะลงทุนเพิ่ม ควรศึกษาก่อนตัดสินใจเพราะการลงทุนมีความเสี่ยง

  3. การจัดการทรัพย์สินส่งต่อคนที่รัก วิธีที่ปลอดภัยที่สุด คือ การทำพินัยกรรม หากไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ มรดกหรือทรัพย์สินก็จะตกเป็นของทายาทลำดับต่างๆ ตามที่กฎหมายระบุนั่นเอง


อย่างนี้แล้ว บรรดาวัยเกษียณทั้งหลายคงหายกังวลไม่น้อย เมื่อรู้ว่าเราควรจะเริ่มต้นวางแผนการเงินอย่างไรในวันที่ต้องอำลาจากงานที่เรารัก หากมีข้อสงสัยหรือยังไม่มั่นใจว่าฉันจะต้องมีเงินมากแค่ไหนถึงจะพอใช้ในวัยเกษียณ ลองคำนวณจากสิ่งที่มีและสิ่งที่ต้องเคลียร์ดูตามที่คุณผึ้งแนะนำ อย่างน้อยก็สามารถการันตีได้ว่า เกษียณไปยังไงก็ยังพอมีเงินใช้ แม้อาจจะไม่มากมาย แต่อย่างน้อย เงินเหล่านี้ก็สามารถต่อยอดธุรกิจเล็ก ๆ อะไรต่อมิอะไรได้หลากหลายเช่นกัน


////////////////////////////////////////////////////

บทความ: โดย บริษัท ออลไรท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด

ดู 3 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comentarios


bottom of page