top of page

ปั้นธุรกิจนวัตกรรมอย่างมีกลยุทธ์ด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลสิทธิบัตร


วิทยากร:

  • คุณปันจะ ห้าวหาญ นักวิชาการตรวจสอบสิทธิบัตรชำนาญการ สำนักสิทธิบัตร กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์

  • Mr. Soumik Das, Senior Account Manager, Clarivate Analytics


หากคุณคิดสร้างธุรกิจโดยการสร้างนวัตกรรม ประดิษฐ์คิดค้นหรือวิจัยสิ่งใด นอกจากคำนึงถึงการเปลี่ยนเพื่อให้มีชีวิตที่ดีขึ้น สร้างความสะดวกสบาย และทำให้มีมูลค่าแล้วนั้น สิ่งที่ควรพิจารณาต่อไม่แพ้กันเลยก็คือ เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีอยู่ในปัจจุบัน (Existing Technology and Innovation) เพื่อพิสูจน์ถึงความใหม่ โดยคุณสามารถทำการตรวจสอบเทคโนโลยีโดยการสืบค้นและวิเคราะห์เบื้องต้นได้อย่างเป็นรูปธรรมผ่านระบบฐานข้อมูลสิทธิบัตรของแต่ละประเทศ เพื่อให้การค้นคว้าและพัฒนา สิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรม หรือผลงานวิจัยของคุณมีความแตกต่างอย่างสร้างสรรค์และความสามารถในการแข่งขันทางการตลาดได้

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) จัดฝึกอบรมด้านทรัพย์สินทางปัญญาแบบออนไลน์ (IP Webinar) ครั้งที่ 2 ขึ้น เพื่อให้ความรู้และความเข้าใจแก่ผู้เข้าร่วม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและ ขนาดย่อม (SMEs) ในหัวข้อ “ไขรหัสเทคนิคการวิเคราะห์ข้อมูลสิทธิบัตรเพื่อการต่อยอดธุรกิจนวัตกรรม” และ “Global Perspective on Patent Landscape & Mapping” ซึ่งได้รับเกียรติจาก คุณปันจะ ห้าวหาญ นักวิชาการตรวจสอบสิทธิบัตรชำนาญการ สำนักสิทธิบัตร กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ และ Mr. Soumik Das, Senior Account Manager, Clarivate Analytics มาเป็นวิทยากรพิเศษถ่ายทอดความรู้ ให้แก่ผู้เข้าร่วมได้แนวคิดและแนวทางการใช้ข้อมูลของการวิเคราะห์สิทธิบัตรเบื้องต้นเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจนวัตกรรมดังนี้


สิทธิบัตร (Patent) คือหนังสือสำคัญที่รัฐออกให้เพื่อคุ้มครองการประดิษฐ์ (Invention) หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ (Product Design) ที่มีลักษณะตามที่กฎหมายกำหนด เป็นสิทธิพิเศษให้ผู้ประดิษฐ์คิดค้นหรือผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์ มีสิทธิที่จะผลิตสินค้า จำหน่ายสินค้าแต่เพียงผู้เดียว ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง (สิทธิบัตรการประดิษฐ์มีอายุ 20 ปี และ สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์มีอายุ 10 ปี นับแต่วันยื่นคำขอรับสิทธิบัตร) โดยมีหลักเกณฑ์ของสิทธิบัตรการประดิษฐ์ ดังนี้คือ ต้องเป็นการประดิษฐ์ที่คิดค้นขึ้นใหม่ (Novelty) มีขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น (Inventive Step) และสามารถประยุกต์ใช้ในทางอุตสาหกรรมได้ (Capable of Industrial Application) สำหรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์นั้น ต้องเป็นการออกแบบเพื่ออุตสาหกรรมรวมถึงหัตกรรม เป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ยังไม่มีใช้แพร่หลายในประเทศ ยังไม่ได้เปิดเผยสาระสำคัญหรือรายละเอียดในเอกสาร หรือสิ่งพิมพ์ก่อนวันขอรับสิทธิบัตร และไม่คล้ายกับแบบผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่แล้ว


นอกจากนี้ยังมี อนุสิทธิบัตร (Petty Patent) หรือหนังสือสำคัญที่รัฐออกให้เพื่อคุ้มครองการประดิษฐ์จะมีลักษณะคล้ายกันกับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ แตกต่างกันตรงที่ อนุสิทธิบัตรจะเป็นความคิดสร้างสรรค์ที่มีระดับการพัฒนาเทคโนโลยีไม่สูงมาก โดยหลักเกณฑ์ของอนุสิทธิบัตรมีดังนี้คือ ต้องเป็นการประดิษฐ์ที่คิดค้นขึ้นใหม่ (Novelty) และสามารถประยุกต์ใช้ในทางอุตสาหกรรมได้ (Capable of Industrial Application) แต่ไม่จำเป็นต้องมีขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น (Inventive Step) เหมือนกับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ ดังนั้นผู้ขอเอกสารสิทธิ์ดังกล่าวควรพิจารณาและวางแผนว่าควรจะเลือกการขอรับความคุ้มครองด้วยการยื่นขอรับสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตรเพื่อให้เหมาะสมกับช่วงเวลาการค้นคว้าและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่หรือนวัตกรรม (Discover) เพื่อดำเนินการจดทะเบียนปกป้องคุ้มครองสิทธิ์ (Protect) ก่อนทำธุรกิจค้าขายต่อไป (Commercialize)


ผู้ขอเอกสารสิทธิ์สามารถสืบค้นข้อมูลสิทธิบัตร (Patent) เพื่อตรวจสอบเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน เพื่อวิเคราะห์ดูว่าสิ่งที่เราพัฒนาขึ้นนั้นซ้ำซ้อนหรือละเมิดสิทธิ์ผู้อื่นหรือไม่ โดยพิจารณาดูจากพื้นที่หรือหมวดหมู่สิ่งประดิษฐ์ (International Patent Classification: IPC) เทคนิคและกรรมวิธี สาระสำคัญที่เกิดขึ้น เอกสารดั้งเดิม หรือแม้กระทั่งโครงสร้างทางเคมี รวมถึงผู้เล่นสำคัญที่มีความเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมนั้นๆ เพื่อนำมาวิเคราะห์หาแนวทางปรับปรุงหรือพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ของเราให้มีความแตกต่าง (Improve) หรือตัดสินใจสร้างสรรค์สิ่งใหม่ (Restart) ก่อนนำไปสู่กระบวนการยื่นขอรับความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาต่อผู้พิสูจน์กับผู้เชี่ยวชาญต่อไป


ทั้งนี้ผู้ขอเอกสารสิทธิ์สามารถสืบค้นและวิเคราะห์ข้อมูลสิทธิบัตร ด้วยบริการของกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งมีระบบให้บริการสืบค้นฐานข้อมูลสิทธิบัตรทั่วโลก (Search Patent System) ยกตัวอย่างเช่น ระบบสืบค้นข้อมูลสิทธิบัตรในยุโรปโดยเฉพาะ (Espacenet Patent Search) และระบบสืบค้นข้อมูลสิทธิบัตรแพทสแนปที่ครอบคลุมสิทธิ์ด้านการออกแบบด้วย (PatSnap) โดยระบบการสืบค้นของฐานข้อมูลทั้งหมดจะมีฟังก์ชั่นการค้นหาที่หลากหลายและเชื่อมโยงไปสู่ข้อมูลของสิทธิบัตรต่างประเทศ ดังนั้นสิ่งสำคัญก่อนการสืบค้นจะต้องรู้ว่าสิ่งประดิษฐ์ที่เรากำลังสร้างสรรค์อยู่นั้นมีคำสำคัญที่เกี่ยวข้อง (Keywords) อะไรบ้าง เพื่อหาข้อมูลสิทธิบัตรที่มีอยู่ได้ใกล้เคียงมากที่สุด ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อพัฒนาสิ่งประดิษฐ์หรือนวัตกรรมของเราได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป ทั้งนี้ถ้าท่านใดสนใจสามารถติดต่อที่ ศูนย์ IP IDE CENTER หรือหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.ipthailand.go.th/th/



วิทยากรได้แนะนำ การวิเคราะห์ดูโครงสร้างของสิทธิบัตร ซึ่งประกอบด้วย ชื่อที่แสดงถึงการประดิษฐ์ (Title) รายละเอียดการประดิษฐ์ (Description) ข้อถือสิทธิ (Claim) รูปเขียน (Drawing) บทสรุปการประดิษฐ์ (Abstract) ผลการตรวจค้นและผลการตรวจสอบ โดยข้อมูลที่สำคัญของสิทธิบัตรนั้นคือ ภูมิหลังหรืองานที่ปรากฏอยู่แล้ว (Prior Art) และข้อมูลอ้างสิทธิทางเทคนิค เพื่อจะได้วิเคราะห์ดูว่าผู้ขอเอกสารสิทธิ์หรือคู่แข่งนั้นพยายามจะแก้ไขปัญหาใด ด้วยวิธีการอย่างไร มีเทคนิคกลไกที่เป็นลักษณะสำคัญ ข้อดี ฟังก์ชั่นและเทคนิคอื่นๆ อะไรบ้าง ทั้งนี้วิธีการเบื้องต้นในวิเคราะห์ผลของรายงานการตรวจค้นสิทธิบัตรที่สืบค้นมาว่ารายละเอียดการประดิษฐ์นั้นเป็นอย่างไร พิจารณาได้จากรหัส 3 แบบที่ปรากฏในเอกสารดังนี้ X: สิ่งประดิษฐ์ไม่มีความใหม่ Y: มีความเป็นไปได้ในการพิสูจน์การมีขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น (Inventive Step) และ A: มีความเป็นไปได้สูงที่จะได้รับอนุมัติถือครองสิทธิ์ สุดท้ายการพิจารณาว่าสิทธิบัตรมีผลการตรวจสอบเป็นเช่นไรให้ วิเคราะห์ได้จาก Kind Code ซึ่งจะปรากฎอยู่หลังเลขที่ประกาศโฆษณา โดย รหัส Kind มีอยู่ 2 แบบ ได้แก่ รหัสที่ระบุด้วยตัวอักษร A: Unexamined Publication (ถูกประกาศแล้วแต่ยังไม่ได้รับการตรวจสอบ) และ รหัสที่ระบุด้วยตัวอักษร B: Granted Publication (สิทธิบัตรที่ได้รับการจดทะเบียนแล้ว)



นอกจากการประเมินความเป็นไปได้ในการจดสิทธิบัตร เทคนิคการสืบค้นข้อมูลสิทธิบัตรแล้วนั้น ยังมีส่วนของการวิเคราะห์ข้อมูลพื้นที่ภาพรวมของสิทธิบัตร (Patent Landscape) ซึ่งสืบค้นข้อมูลได้ผ่านระบบของกรมทรัพย์สินทางปัญญา เช่นเดียวกัน ข้อดีของการวิเคราะห์ข้อมูลพื้นที่ภาพรวมของสิทธิบัตรเพื่อประเมินดูพื้นที่การแข่งขัน ทำความเข้าใจถึงแนวโน้มและความเป็นไปได้ของเทคโนโลยีต่างๆ มองเห็นช่องว่างและโอกาสในการทำตลาดที่มีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งยังสามารถวิเคราะห์ศักยภาพและมูลค่าของสิทธิบัตร ผ่านการรายงานผลสิทธิบัตรต่าง ๆ ตามหมวดหมู่ที่เกี่ยวข้องในรูปแบบ 3 มิติที่ทำความเข้าใจได้ไม่ยาก ช่วยให้ผู้ขอเอกสารสิทธิ์มีความรอบรู้ มีข้อมูลประกอบการวิเคราะห์และตัดสินใจ รู้ว่าจะต้องลงทุนเพิ่มส่วนใด (Investment) หรือ วิจัยและพัฒนาส่วนไหน (Research & Development) ให้สามารถขับเคลื่อนธุรกิจนวัตกรรมได้อย่างมีมูลค่าและเป็นรูปธรรมด้วยสิทธิตามกฎหมาย

////////////////////////////////////////////////////

บทความ: โดย บริษัท ออลไรท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด

ดู 8 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page