วิทยากร: ศ.นพ.วีรศักดิ์ เมืองไพศาล อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โรงพยาบาลศิริราช
จะเกิดอะไรขึ้น หากตื่นขึ้นมาแล้วพบว่า คนที่เรารักจำเราไม่ได้ ??
คงวุ่นน่าดู ที่จู่ ๆ คุณตา คุณยาย คุณพ่อ คุณแม่ หรือใครคนหนึ่งในครอบครัว เกิดจำเราไม่ได้ขึ้นมา หรือหลง ๆ ลืม ๆ ไปจนถึงหาทางกลับบ้านไม่ได้ ใช่แล้วล่ะ นี่เป็นอาการที่จะบอกว่า โรคสมองเสื่อม กำลังคืบคลานมาเยี่ยมเยือนคนในครอบครัว ว่าแต่ โรคสมองเสื่อม มันมีลักษะอาการยังไง ใช่อาการเดียวกับคนที่บ้านกำลังเป็นอยู่หรือเปล่า เราไปทำความรู้จักและเรียนรู้เกี่ยวกับโรคนี้กันดีกว่า
“โรคสมองเสื่อม” เป็นภาวะที่การรู้คิดถดถอย เป็นโรค ที่มักพบในผู้สูงอายุ ทำให้ผู้ที่เป็นมีอาการหลงลืม การคิดอ่าน การรับรู้ การใช้ภาษาผิดปกติ พฤติกรรม และอารมณ์เปลี่ยนไป ส่งผลกระทบต่อการทำงานและกิจวัตรประจำวัน
แล้วอัลไซเมอร์ คือสมองเสื่อมใช่หรือไม่ ?
คำตอบคือ อัลไซเมอร์เป็นสาเหตุของภาวะสมองเสื่อม ชนิดหนึ่งที่พบมากที่สุดนั่นเอง
ศ.นพ.วีรศักดิ์ เมืองไพศาล อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โรงพยาบาลศิริราช บอกว่า การป้องกันโรคสมองเสื่อมที่สำคัญที่สุด ต้องเริ่มตั้งแต่วัยเด็ก โดยเริ่มตั้งแต่ช่วงตั้งครรภ์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหารการกิน และการคลอดที่ปลอดภัย พอโตมาหน่อยควรมุ่งเน้นใส่ใจลูก ตั้งแต่เรื่องอาหารการกิน ภาวะโภชนาการ และกระบวนการเรียนรู้อื่น ๆ นอกห้องเรียน สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นภูมิต้านทานและอาหารสำหรับสมองชั้นดีในการป้องกันโรคสมองเสื่อมในอนาคต
แต่ครั้นบางคนจะเริ่มตั้งแต่วัยเด็กคงไม่ทันแล้วสิคะ เพราะลองนับดูแล้ว ปีนี้ก็อายุย่างเข้าสู่วัยกลางคน การป้องกันในช่วงวัยนี้จึงเกี่ยวกับรูปแบบการดำเนินชีวิต และกิจกรรมที่ทำร่วมกับผู้อื่น อย่าง ใครที่รู้ตัวว่า ชอบอยู่คนเดียว มีภาวะซึมเศร้า หรือมีโรคประจำตัวอย่าง เช่น เบาหวาน ความดัน อ้วน และสูบบุหรี่ ในอนาคตอาจมีปัญหาเกี่ยวกับโรคนี้ได้ สำหรับผู้สูงวัย คุณหมอแนะนำว่าให้เลี่ยงการทานยาบางตัวที่รบกวนการทำงานของสมอง เช่น ยาแก้แพ้ ยาที่ทานแล้วง่วง และสิ่งสำคัญในวัยนี้คือ ระวังเรื่องการหกล้ม เพราะอาจทำให้สมองกระทบกระเทือนได้
ถ้าเป็นแล้ว มียาที่ใช้รักษาให้หายเหมือนโรคอื่น ๆ หรือไม่นั้น ศ.นพ.วีรศักดิ์ เมืองไพศาล บอกว่า โรคสมองเสื่อมไม่มียารักษา แต่จะมียาชะลอการถดถอยความจำนั่นเอง นอกจากนี้สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมากนั่นคือการสื่อสารกับผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ดังนั้น ผู้ดูแลต้องอดทน ไม่รีบร้อน ทำอะไรทีละอย่าง พูดช้า ๆ และชัดถ้อยชัดคำ ให้เวลาผู้ป่วยในการตอบสนอง แบ่งกิจกรรมเป็นขั้น ๆ ง่าย ๆ โดยใช้ท่าทางประกอบ หรือใช้ป้ายข้อความและรูป ที่สำคัญอย่าลืมเอาใจเขามาใส่ใจเรา อย่าเผลอ เกรี้ยวกราดใส่ผู้ป่วยเชียว
รู้อย่างนี้แล้ว ลองสำรวจตัวเองและคนที่รักดูว่า มีอาการที่ตรงกับที่คุณหมอบอกหรือไม่ ในการรักษาคุณหมอจะสังเกตพฤติกรรม สอบถามประวัติ และทำการทดสอบเบื้องต้น ดังนั้น คุณลูกทั้งหลายควรให้ คนในครอบครัวและตัวคุณเอง ตรวจสุขภาพประจำปี ตรวจเช็คความดัน เบาหวาน และที่สำคัญ ทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันและเสริมสร้างร่างกายที่แข็งแรงเพื่อให้ห่างไกลโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ รวมถึงโรคสมองเสื่อมด้วย
////////////////////////////////////////////////////
บทความ: โดย บริษัท ออลไรท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด
Comments